การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 จะเป็นตัวกำหนดว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้กลับคืนสู่ทำเนียบขาว หรือ เป็นตัวตัดสินว่า อดีตผู้นำรายนี้จะต้องย้ายนิวาสสถานไปอยู่ในเรือนจำหรือไม่ หลังปรากฏตัวต่อหน้าผู้พิพากษาในกรุงวอชิงตันเพื่อรับฟังข้อหามากมายที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นทฤษฎีสมคบคิดที่มีจุดกำเนิดมาจากคำโกหกต่าง ๆ เพื่อหวังล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 และนำมาสู่เหตุก่อจลาจลบุกอาคารรัฐสภาในเวลาต่อมา
ทรัมป์ เดินทางถึงกรุงวอชิงตันในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดี เพื่อปรากฏตัวต่อหน้าผู้พิพากษาศาลแขวง โมซิลา อูพัธยายา เพื่อรับฟังข้อกล่าวหาในคดีล่าสุดที่มีกระทรวงยุติธรรมเป็นโจทก์
ทรัมป์ คือ ผู้นำสหรัฐฯ คนแรกในประวัติศาสตร์ 247 ปีของประเทศ ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาอาญา
รอยเตอร์รายงานว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ ไม่ยอมรับผิดต่อข้อหาทั้งหมดในคดีที่ แจ็ค สมิธ อัยการพิเศษของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นฟ้องว่า ทรัมป์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามพลิกผลเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ซึ่งทีมอัยการระบุว่า เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแง่ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่พยายามบ่อนทำลายเสาหลักของประชาธิปไตยของอเมริกา
กระบวนการฟ้องร้องในกรุงวอชิงตันในวันพฤหัสบดีใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวทรัมป์และไม่มีคำสั่งจำกัดการเดินทางใด ๆ แต่มีเงื่อนไขบางอย่างซึ่งรวมถึง การห้ามอดีตปธน.รายนี้พูดเรื่องคดีนี้กับพยานรายใดก็ตาม เว้นแต่ในขณะที่มีทนายความอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ศาลได้กำหนดวันไต่สวนครั้งแรกในวันที่ 28 สิงหาคม ซึ่งทรัมป์ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาร่วมด้วยตนเอง
ทำไมยังลงเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่มีคดีความรออยู่มากมาย
เอพีชี้ว่า สำหรับทรัมป์ที่กำลังเผชิญการฟ้องร้องคดีอาญาคดีครั้งที่ 3 ในรอบ 4 เดือนอยู่ การคว้าชัยชนะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าเป็นมากกว่าเพื่ออัตตา การกู้หน้า การสร้างประวัติศาสตร์ของตนเอง หรือแม้แต่เพื่ออนาคตของประเทศ
อารี เฟลชเชอร์ นักกลยุทธ์สังกัดพรรครีพับลิกัน ให้ความเห็นว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องของอิสรภาพส่วนบุคคลของโดนัลด์ ทรัมป์ ล้วน ๆ” และกล่าวด้วยว่า ถ้าหากทรัมป์ไม่ได้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งและใช้กลไกของระบบยุติธรรมเพื่อเปลี่ยนหรือหยุดการพิพากษา หรือทำให้คดีตกไป เขาน่าจะถูกพิพากษาว่ามีความผิดและถูกสั่งลงโทษจำคุก
เอกสารคำร้องความหนา 45 หน้าที่ แจ็ค สมิธ อัยการพิเศษ เปิดเผยออกมาเมื่อวันอังคาร มีเนื้อความกล่าวหาทรัมป์และพวกพ้องว่า ทำการเผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จว่า มีการโกงการเลือกตั้งปี 2020 และทำการกดดันเจ้าหน้าที่ทั้งรัฐและรัฐบาลกลางเพื่อเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง รวมทั้งทำการรวบรวมคณะผู้แทนเลือกตั้งปลอมขึ้นมาเพื่อหวังแย่งชิงคะแนนเสียงที่ประชาชนลงให้กับ โจ ไบเดน
ในการฟ้องร้องครั้งนี้ ทรัมป์เผชิญข้อหา 4 กระทง ซึ่งรวมถึง การสมคบคิดเพื่อฉ้อโกงประเทศ การริดรอนสิทธิ์การนับคะแนนเสียของประชาชน และการขัดขวางกระบวนการทางการ โดยบทลงโทษรุนแรงที่สุดก็คือ การจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 20ปี
SEE ALSO: คดีใหญ่ที่ทรัมป์เผชิญมีอะไรบ้าง?
ที่ผ่านมา ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของตนออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเนื้อหาที่ระบุว่า กระบวนการฟ้องร้องตนเป็นอุบายเพื่อป่วนการหาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่ ทีมงานหาเสียงของอดีตผู้นำรายนี้ก็ออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อความเปรียบเทียบรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าเป็นเหมือนพวกรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์
และก่อนหน้าจะมาปรากฏตัวในศาลในวันพฤหัสบดี ทรัมป์ ยังระบุในโพสต์ทางสื่อ ทรูธ โซเชียล (Truth Social) ที่ตนก่อตั้งขึ้นหลังลงจากตำแหน่งว่า “ผมต้องการการฟ้องร้องอีกครั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งผมเกิดขึ้นจริง”
แรงกระทบจากการฟ้องร้องต่อเส้นทางเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน
และแม้จะตกอยู่ในวังวนของคดีความฟ้องร้องอยู่ อดีตผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ยังเป็นผู้ที่มีคะแนนนิยมสูงสุดในหมู่คู่แข่งชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้า โดยผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า รอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ซึ่งอยู่ในอันดับสองนั้น มีคะแนนห่างจากทรัมป์อย่างมาก
ขณะที่ ความนิยมในตัวทรัมป์พุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่มีการยื่นฟ้องตัวเขาครั้งแรกในรัฐนิวยอร์กเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปัญหาทางกฎหมายต่าง ๆ นี้ยังคงมีผลกดดันแรงสนับสนุนในหมู่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงซึ่งไม่แสดงตนสนับสนุนพรรคใดชัดเจน โดย 37% ของคนกลุ่มนี้บอกกับผู้ทำการวิจัยรอยเตอร์/อิปซอส (Reuters/Ipsos) เมื่อเดือนกรกฎาคมว่า อาจจะไม่ลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์ เนื่องจากประเด็นการฟ้องร้องต่าง ๆ
สำหรับผู้นำพรรครีพับลิกันซึ่งมีหลายคนประกาศตัวลงท้าชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคในการเลือกตั้งปีหน้า มีทั้งผู้ที่ออกมาปกป้องและพยายามหลีกเลี่ยงไม่วิจารณ์ทรัมป์โดยตรง และส่วนใหญ่เลือกที่จะกล่าวหารัฐบาลปธน.ไบเดนว่า ใช้กระทรวงยุติธรรมเป็นอาวุธจัดการกับคู่แข่งทางการเมือง
ขณะเดียวกัน ผู้ที่เฝ้าวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ของประเทศ กล่าวว่า เหตุจูงใจหลัก ๆ ที่ทำให้ทรัมป์เดินหน้าลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ก็คือ ความกลัวที่จะถูกดำเนินคดี แม้ว่า เจ้าตัวจะพร่ำย้ำว่า ถ้าตนไม่ลงเลือกตั้ง ก็คงไม่มีการยื่นฟ้องตนในข้อหาต่าง ๆ ดังที่เป็นอยู่ก็ตาม
นี่ไม่ใช่เป็นเพียงการต่อสู้คดี
นอกเหนือจากความท้าทายทางการเมืองจากการฟ้องร้องคดีทั้งหลายในกรุงวอชิงตัน รัฐนิวยอร์ก รัฐฟลอริดา และรัฐจอร์เจีย ที่อาจเป็นตัวกำหนดเส้นทางกลับคืนสู่ทำเนียบขาวของทรัมป์แล้ว นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ความจริงที่ว่า การเตรียมการเพื่อสู้คดีอาญาแต่ละคดีนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้สรรพกำลังมากมาย
แบร์รี บอสส์ ทนายความชั้นนำผู้เชี่ยวชาญด้านคดีอาชญากรรมคอปกขาว บอกกับเอพีว่า “ชัดเจนอยู่แล้ว ภายใต้สถานการณ์ปกตินั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการเตรียมการรับมือการไต่สวนคดีอาญามากกว่าหนึ่งคดีพร้อม ๆ กัน” และว่า “ปกติ นั่นจะเป็นเรื่องที่ยากจะรับมืออยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น การคิดว่า ต้องรับมือการฟ้องร้องพร้อม ๆ กันหลายคดีนั้นเป็นเรื่องที่ผมเองก็คิดไม่ออกจริง ๆ”
ยิ่งไปกว่านั้น การสืบสวนคดีต่าง ๆ กลายมาเป็นเรื่องใหญ่สำหรับงบหาเสียงของทรัมป์ด้วย โดยบทวิเคราะห์ของเอพีชี้ว่า นับตั้งแต่ต้นปีมา ทีมงานด้านการเมืองของอดีตผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ใช้เงินจ่ายค่าธรรมเนียมทางกฎหมายเพื่อสู้คดีให้กับเจ้าตัวรวมทั้งพนักงานในสังกัดและบรรดาพันธมิตรทั้งหลายมากกว่าการใช้เพื่อเดินทาง การหาเสียงและแผนงานทางการเมืองอื่น ๆ รวมกันเสียอีก
จะเกิดอะไรขึ้น หากทรัมป์ได้คืนสู่ทำเนียบ แต่แพ้คดี
แนวทางปฏิบัติของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า ประธานาธิบดีที่ยังอยู่ในตำแหน่งนั้นมีอภิสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองจากกระบวนการฟ้องร้องและการดำเนินคดีอาญาทุกอย่าง
แต่แม้ทรัมป์ได้ชัยชนะและกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2025 นั่นก็จะไม่ได้ช่วยป้องกันเขาให้รอดพ้นจากบทลงโทษทางกฎหมายจากคดีที่ดำเนินอยู่ได้อย่างแน่นอนเลย
เอพีระบุว่า หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เขาอาจสั่งให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมใช้อำนาจยกฟ้องคดีต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลกลาง และสั่งไล่อัยการที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่ง หรืออาจลองใช้อำนาจของประธานาธิบดีในการอภัยโทษตนเองก็เป็นได้ แต่ทั้งหมดนี้จะมีผลก็แต่เฉพาะคดีที่มีรัฐบาลกลางเป็นโจทก์เท่านั้น และจะใช้ไม่ได้กับคดีอาญาในระดับรัฐที่ดำเนินอยู่ในรัฐฟลอริดาและรัฐจอร์เจีย
และถึงแม้ทรัมป์จะไม่ได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงเลือกตั้งแต่พรรคนี้เป็นผู้คว้าชัยได้ ประธานาธิบดีสังกัดพรรคเก่าแก่นี้ก็จะต้องเผชิญแรงกดดันไม่น้อยจากทรัมป์ให้หาทางยกฟ้องคดีทั้งหลายเพื่อไม่ให้กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตผู้นำคนนี้ออกมาโจมตีตน ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วนับตั้งแต่สมัยของอดีตประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ที่ให้อภัยโทษอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน สำหรับคดีวอเตอร์เกตส์ ซึ่งเป็นเหตุอื้อฉาวทางการเมืองสหรัฐฯ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ์ที่ 1970
- ที่มา: เอพีและรอยเตอร์