โฆษกทำเนียบขาว Sean Spicer แถลงทางทวิตเตอร์ ถึงความสำเร็จของการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยบอกว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังเดินทางกลับกรุงวอชิงตัน หลังจาก 9 วันแห่งการเดินทางที่มีประสิทธิผล”
แต่ดูเหมือนบรรดาผู้นำยุโรป และสื่อมวลชนในหลายประเทศของยุโรปไม่คิดเช่นนั้น
ดูเหมือนการตอบสนองของบรรดาผู้นำยุโรป และสื่อมวลชนในหลายประเทศของยุโรป ต่อการเดินทางเยือนต่างประเทศของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มิได้ใกล้เคียงกับคำว่า “ความสำเร็จ” เหมือนคำพูดที่ทำเนียบขาวแถลงออกมา
โดยเฉพาะกระแสตอบรับจากทางเยอรมนีและฝรั่งเศส สองหัวเรือใหญ่ของสหภาพยุโรป
นายกฯ เยอรมนี นางอังเกล่า เมอร์เคิ่ล กล่าวต่อประชาชนที่เยอรมนีว่า “ช่วงเวลาที่เยอรมนีสามารถพึ่งพาประเทศอื่นได้นั้น จบลงไปแล้ว” และว่าความผูกพันระหว่างพันธมิตรชาติตะวันตกกำลังถูกคุกคามจากรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป
บรรดาผู้นำหลายประเทศในยุโรปต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า จากนี้ยุโรปอาจต้องฝ่าฟันปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง เนื่องจากรัฐบาลวอชิงตันไม่ใช่พันธมิตรที่พึ่งพาได้อีกต่อไป
เช่นเดียวกับสื่อต่างๆ หลายแขนงในยุโรป ที่ต่างๆมีพาดหัวข่าวแสดงถึงความไม่มั่นใจในผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ
เช่น หนังสือพิมพ์ใหญ่ฉบับหนึ่งในเบลเยียมที่พาดหัวตัวโตว่า “ทรัมป์ผลักไสพันธมิตร” ซึ่งเล่นคำมาจากกรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ผลักนายกฯ ดัสโก้ มาร์โควิช ของมอนเตเนโกร ให้ออกไปจากตำแหน่งที่ตนต้องการยืนในแถวหน้า ระหว่างการถ่ายรูปหมู่ของผู้นำองค์การนาโต้
ก่อนหน้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เยือนต่างประเทศครั้งนี้ บรรดาผู้นำในยุโรปต่างตั้งความหวังว่าจะเป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปขึ้นมาใหม่ เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ได้พบเจรจากับผู้นำประเทศต่างๆ มากขึ้น แต่ดูเหมือนตั้งแต่กรุงบรัสเซลล์ไปจนถึงเมืองซิซิลี่ในอิตาลี ต่างเต็มไปด้วยความเคอะเขิน รอยยิ้มที่ฝืนๆ และความกระอักกระอ่วนใจ
ผู้นำยุโรปหลายคนกล่าวกับสื่อมวลชนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ และที่ปรึกษาของผู้นำสหรัฐฯ ได้มองข้ามประเด็นสำคัญหลายอย่างระหว่างการเยือนยุโรปครั้งนี้ โดยประธานาธิบดีทรัมป์มักเอาแต่กล่าวถึงธุรกิจที่ตนเคยทำกับหลายประเทศในยุโรป เช่น สนามกอล์ฟ แทนที่จะกล่าวถึงการค้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
นสพ. Le Monde ของฝรั่งเศส ระบุว่า "ระหว่างการเดินทางเยือนยุโรป ทรัมป์ ยังคงยึดมั่นกับแนวทาง America First หรือ อเมริกามาก่อน และปฏิเสธที่จะพยายามพัฒนาความสัมพันธ์สหรัฐฯ - ยุโรป"
ขณะที่นิตยสาร Der Spiegel ของเยอรมนี วิจารณ์การจับมือกันของ ปธน.ทรัมป์ กับ ปธน.เอ็มมานูเอล มาคร็อง ของฝรั่งเศส ซึ่งดูเหมือนผู้นำทั้งสองคนพยายามที่จะบีบมือกันเหมือนการประลองกำลัง
ส่วน นสพ. The Guardian ของอังกฤษ ระบุว่า "แม้การเยือนยุโรปครั้งแรกของ ปธน.ทรัมป์ จบลงแล้ว แต่บรรดาผู้นำยุโรปยังคงสั่นคลอน และไม่มั่นใจต่อทิศทางนโยบายของรัฐบาลอเมริกัน"
อีกด้านหนึ่ง ผู้นำประเทศกลุ่ม G-7 ที่ร่วมประชุมที่อิตาลีในช่วงสุดสัปดาห์ มีความเห็นต่างกันในเรื่องข้อตกลงจำกัดภาวะโลกร้อน แต่เห็นพ้องกันในประเด็นการค้าระหว่างประเทศ
ปธน. สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสนับสนุนความพยายามต่อต้านมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และปฏิเสธที่จะสนับสนุนสนธิสัญญากรุงปารีสที่มีเป้าหมายต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก โดยบอกว่าต้องการเวลาเพื่อตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมในสนธิสัญญานี้ต่อไปหรือไม่
(ผู้สื่อข่าว Jamie Dettmer มีรายงานเรื่องนี้ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)