โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน กล่าวต่อผู้สนับสนุนตัวเขาในการหาเสียงที่รัฐโอไฮโอในวันพฤหัสบดี หนึ่งวันหลังการดีเบตครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายว่า ตนจะยอมรับผลการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. ภายใต้ข้อแม้ว่าต้องเป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใส ซึ่งเป็นคำพูดที่ต่างจากที่เขากล่าวไว้บนเวทีดีเบตเมื่อคืนวานนี้
เมื่อคืนนี้ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คือโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และ ฮิลลารี คลินตั้น จากพรรคเดโมแครต ขึ้นเวทีโต้อภิปรายหรือดีเบตรอบที่สามและรอบสุดท้าย ในขณะที่เหลือไม่ถึง 3 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมาถึง
ในหัวข้อหนึ่งของการดีเบต คือประเด็นความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้ดำเนินรายการคือ คริส วอลเลซ จาก Fox News เป็นผู้ตั้งคำถามต่อโดนัลด์ ทรัมป์ เรื่องที่เขากล่าวหาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการกำหนดผลล่วงหน้า และถามว่าหากพ่ายแพ้ ทรัมป์จะยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่? ซึ่งทรัมป์บอกว่าตนจะตอบคำถามนี้เมื่อถึงเวลา
ทางด้านนางคลินตั้นกล่าวว่า สหรัฐฯ มีประชาธิปไตยมากว่า 200 ปี และมีประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่โปร่งใสและยุติธรรม ซึ่งคำพูดของทรัมป์กำลังทำลายความน่าเชื่อถือนี้
และในวันนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวระหว่างการหาเสียงที่รัฐโอไฮโอ ว่าตนจะยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 8 พ.ย. นี้ หากตนเป็นฝ่ายชนะ และว่าหากนางคลินตั้นเป็นผู้ชนะ ตนก็จะยอมรับภายใต้ข้อแม้ว่าต้องเป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใส และตนขอสงวนสิทธิ์ในการยื่นคำร้องให้มีการตรวจสอบตามกฎหมาย หากพบว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้น่าสงสัย
รองศาสตราจารย์ Richard Herrera จากมหาวิทยาลัย Arizona State ให้ความเห็นว่า การที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการกำหนดผลไว้ล่วงหน้านั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในอดีต
นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่า เรื่องนี้อาจทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจ หันไปหานางคลินตั้นมากขึ้น เพราะแม้ว่าจะมีคนอเมริกันจำนวนมากที่ไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล แต่พวกเขาไม่เคยตั้งคำถามต่อความโปร่งใสของกระบวนการเลือกตั้งสหรัฐฯ
ผลการสำรวจเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายชิ้นระบุว่า การโกงการเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น รายงานชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดยรองผู้ช่วยรัฐมนตรียุติธรรม Justin Levitt ชี้ว่ามีการรายงานการโกงเลือกตั้งเพียง 31 ครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 2000 – 2014 จากการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งมากกว่า 1,000 ล้านใบ
ด้านอาจารย์ John Gilmour แห่งคณะรัฐศาสตร์ College of William & Mary ในรัฐเวอร์จิเนีย ระบุว่าคงเป็นเรื่องผิดปกติ หากมีการกำหนดผลการเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า เนื่องจากระบบเลือกตั้งของสหรัฐฯ นั้นเป็นการกระจายอำนาจไปสู่รัฐบาลส่วนท้องถิ่น มากกว่าจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตัน กล่าวคือรัฐที่มีประชากรมากจะมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งมากที่สุดผ่านระบบคณะผู้แทนเลือกตั้งหรือ Electoral College Voting ไม่ใช่เสียงของประชาชนแต่ละคนหรือ Popular Vote
ด้านอาจารย์ James Gimpel แห่งคณะรัฐศาสตร์ University of Maryland ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้เกิดคำถามถึงการยินยอมรับผลลัพธ์ที่ออกมาของผู้ที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เป็นการยินยอมที่จะถูกปกครองโดยผู้ชนะ
นักวิเคราะห์การเมืองผู้นี้กล่าวส่งท้ายว่า ความเห็นของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดูเหมือนจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เสมือนเป็นการประกาศความพ่ายแพ้ของตัวเขาเอง เป็นการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองมากกว่าจะกล่าวโทษต่อสิ่งที่เป็นสาเหตุ นั่นคือความไม่เหมาะสมของตัวเขาเองในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้
(รายงานจากห้องข่าววีโอเอ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)