'สารไตรโคลซาน' ในยาสีฟัน อาจใช้ปราบเชื้อมาลาเรียดื้อยาได้

นักวิจัยพบข้อมูลนี้จากการใช้คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI

Your browser doesn’t support HTML5

สารในยาสีฟันอาจช่วยต่อสู้มาลาเรียดื้อยา

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ รายงานในวารสารชื่อ Scientific Reports เรื่องการค้นพบเกี่ยวกับสารไตรโคลซานในยาสีฟัน ซึ่งอาจใช้เพื่อต่อสู้กับเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาได้

เรื่องนี้เป็นผลจากการศึกษาด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่สามารถเลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์ และตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า ไตรโคลซาน ซึ่งเป็นส่วนผสมที่พบได้โดยทั่วไปในยาสีฟัน เพื่อป้องกันการก่อตัวของคราบแบคทีเรียในช่องปากนั้น สามารถช่วยหยุดยั้งการติดเชื้อมาลาเรียทั้งในตับและในกระแสเลือดได้

โดยปกติแล้ว มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น เกิดจากเชื้อปรสิตชื่อ "พลาสโมเดียม" จากการแพร่เชื้อของยุงตัวเมีย และเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เชื้อดังกล่าวจะมุ่งตรงไปที่ตับเพื่อใช้เป็นที่ก่อตัวและแพร่พันธุ์ จากนั้นก็จะขยายต่อไปที่เซลล์เม็ดเลือดแดงเพื่อกระจายไปทั่วร่างกาย

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์พอทราบมาแล้วว่า สารไตรโคลซานช่วยหยุดการเติบโตของเชื้อปรสิตมาลาเรียในเซลล์เม็ดเลือดได้ ด้วยการจำกัดการทำงานของสารเคมีอย่างหนึ่ง ชื่อ enoyl reductase

และจากผลการศึกษาชิ้นล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษพบว่า สารเคมีไตรโคลซาน ซึ่งพบได้ในยาสีฟัน ยังช่วยหยุดยั้งการเติบโตของเอนไซม์อีกชนิดหนึ่งของเชื้อมาลาเรีย ที่เรียกว่า DHFR ด้วยเช่นกัน

เรื่องที่น่ายินดีเกี่ยวกับข่าวนี้ก็คือ ขณะนี้เชื้อมาลาเรียซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกปีละราว 5 ล้านคน เริ่มดื้อยามากขึ้นจนทำให้เกิดความกังวลว่า อีกไม่นานอาจไม่มียาชนิดใดที่สามารถปราบเชื้อมาลาเรียบางสายพันธุ์ได้อีกต่อไป

ดังนั้นในขณะที่การพยายามค้นหาตัวยาใหม่ๆ เพื่อรับมือกับเชื้อมาลาเรียกำลังมีความสำคัญมากขึ้น ข่าวที่ว่าสารไตรโคลซานในยาสีฟัน อาจสามารถใช้พัฒนาเป็นตัวยาเพื่อสกัดการขยายตัวของเชื้อมาลาเรียนี้จึงนับเป็นข่าวดี

และเรื่องที่นับเป็นข่าวดีอีกด้านหนึ่งจากการศึกษาเรื่องการใช้สารไตรโคลซานเพื่อปราบเชื้อมาลาเรีย ก็คือหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ชื่อ Eve ที่นักวิจัยใช้ในการศึกษานี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเร่งกระบวนการค้นหายาใหม่โดยเฉพาะ

โดยโปรแกรม AI ดังกล่าว ได้รับการออกแบบเพื่อให้ตั้งสมมติฐาน ทำการทดลอง ตรวจสอบผลที่ได้ ปรับเปลี่ยนสมมติฐานจากข้อมูลที่ได้มา และทำกระบวนการทดลองดังกล่าวซ้ำอีกหลายครั้ง จนกระทั่งได้คำตอบที่น่าเชื่อถือในที่สุด