ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญชี้การออกแบบบ้านในแอฟริกาให้แข็งแรงช่วยป้องกัน 'มาลาเรีย' ได้


A mother and her child sit on a bed covered with a mosquito net near Bagamoyo, 70 km north of Tanzanian capital Dar es Salaam.
A mother and her child sit on a bed covered with a mosquito net near Bagamoyo, 70 km north of Tanzanian capital Dar es Salaam.
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:54 0:00

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าประเทศต่างๆ ในแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่ากำลังกลายสภาพเป็นเขตเมืองอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก

Lucy Tusting นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของประชากรในพื้นที่

Tusting กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นโอกาสที่ผู้เชี่ยวชาญควรใช้ให้เป็นประโยชน์ และส่งเสริมให้มีการสร้างบ้านและที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพแข็งแรง

ในปี 2015 มีคนเสียชีวิตจากมาลาเรีย 400,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กในทวีปแอฟริกา การใช้มุ้งที่เคลือบด้วยยากันยุงและการฉีดยากันยุงภายในบ้าน ช่วยลดจำนวนคนเสียชีวิตลงมาถึง 40 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000

แต่ยุงเริ่มทนทานและต่อต้านต่อยากันยุงที่ใช้กันอยู่ ทำให้จำเป็นต้องมองหาวิธีป้องกันยุงวิธีใหม่

Tusting กับทีมนักวิจัยเกิดความสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเขตเมืองมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่องานป้องกันมาลาเรียหรือไม่

Tusting นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่าตนและทีมงานเห็นว่า หลายๆ ส่วนในแอฟริกาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างบ้านเรือน โดยเริ่มเปลี่ยนจากบ้านผนังดินโคลนและหลังคามุงจาก ไปเป็นบ้านที่ปลูกด้วยเหล็ก หลังคากระเบื้อง และผนังคอนกรีต

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับลักษณะวัสดุที่ใช้ในการปลูกบ้านนี้น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะยุงที่เป็นพาหะของโรคหลายๆ โรคในแอฟริกามักกัดคนภายในบ้านในตอนกลางคืน และบ้านที่สร้างด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรงจะช่วยป้องกันไม่ให้ยุงเข้าไปในบ้านได้

ในผลการศึกษาชิ้นใหม่ล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Medicine Tusting และทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ผลการสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพและข้อมูลเกี่ยวกับประชากรที่จัดเก็บจาก 21 ประเทศ

ทีมงานวิจัยพบว่าเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือนสมัยใหม่ มีโอกาสติดเชื้อมาลาเรียน้อยลงกว่าเด็กที่อาศัยในบ้านเรือนแบบดั้งเดิม 9 - 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อมาลาเรียได้เท่าๆ กับการใช้มุ้งที่เคลือบยากันยุง

Tusting นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด กล่าวว่าผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า บ้านและที่อยู่อาศัยมีบทบาทเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันการระบาดของโรคได้

อย่างไรก็ตาม Tusting กล่าวว่าไอเดียนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการใช้มุ้งลวดติดที่หน้าต่างและประตูเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงเข้าบ้าน และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันการระบาดของโรคที่ยุงเป็นพาหะได้มาหลายสิบปีแล้ว

แต่ประเด็นคือว่าจะมีบ้านสมัยใหม่ถูกปลูกสร้างขึ้นในแอฟริกาในขณะที่ทวีปนี้กำลังเปลี่ยนไปเป็นเขตเมืองมากขึ้น

Tusting นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า เราสามารถใช้การเปลี่ยนแปลงนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจะต้องร่วมมือกับสถาปนิก นักออกแบบ และนักวางผังเมือง ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐบาล

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG