ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเมื่อคนเราหายใจออก เราจะปล่อยเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และในคนที่ติดเชื้อมาลาเรีย คนเหล่านี้จะปล่อยเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณมากกว่าคนปกติ
แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยให้ยุงได้กลิ่นเหยื่อ ยิ่งมีปริมาณเเก๊สคาร์บอนไดออกมาในปริมาณมากขึ้นเท่าใด ยุงก็จะยิ่งได้กลิ่นของเหยื่อดีขึ้นเท่านั้น
ศาสตราจารย์ Emeritus Ingrid Faye แห่งมหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม กล่าวว่า เชื้อมาลาเรียผลิตโมเลกุลตัวหนึ่งที่เรียกว่า HMBPP ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงปล่อยเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเพิ่มขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญชาวสวีเดนกล่าวอีกว่า ในการทดลองในห้องแล็บ ทีมงานวิจัยของตนใช้ตัวอย่างเลือดคนที่ติดเชื้อมาลาเรียเพื่อทดสอบดูการตอบสนองของยุง นักวิจัยในทีมงานพบว่ายุงจะรีบดูดตัวอย่างเลือดที่ได้จากคนที่ติดเชื้อมาลาเรียโดยทันที ทำให้เชื่อว่าโมเลกุล HMBPP ที่พบในเลือดคนที่มีเชื้อมาลาเรียมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของยุง เพราะเพิ่มปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาให้สูงขึ้น
หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่า กลิ่นของเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในตัวอย่างเลือดคนที่มีเชื้อมาลาเรียนี้ ช่วยดึงดูดยุง
สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคเเห่งสหรัฐฯ รายงานว่า เชื้อมาลาเรียติดต่อสู่คนผ่านยุงก้นปล่องตัวเมีย (Anopheles) และในบรรดายุงชนิดนี้ 430 สายพันธุ์ มีอยู่ 30-40 สายพันธุ์ที่เป็นพาหะมาลาเรีย
นักวิจัยชี้ว่ามนุษย์กินมากขึ้นหากอาหารมีรสอร่อย ยุงก็เช่นกันที่จะดูดเลือดในปริมาณมากขึ้นหากเลือดมีรสชาดดี
ศาสตราจารย์ Faye หัวหน้าทีมนักวิจัย เชื่อว่าโมเลกุล HMBPP ที่เกิดจากเชื้อมาลาเรียช่วยให้เลือดมีรสดีขึ้นสำหรับยุง โดยนักวิจัยสังเกตุเห็นว่าในการทดลอง ยุงจะดูดเลือดมี่มีเชื้อมาลาเรียเป็นระยะเวลายาวนานมาก เมื่อเทียบกับตัวอย่างเลือดที่ปลอดเชื้อมาลาเรีย
ทีมนักวิจัยชี้ว่า ยุงที่ดูดเลือดที่มีเชื้อมาลาเรียในปริมาณมาก สามารถสร้างเชื้อมาลาเรียหรือเชื้อ plasmodium ขึ้นในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว โดยการขยายเพิ่มจำนวนเชื้อมาลาเรียในตัวยุงอย่างรวดเร็วนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากโมเลกุล HMBPP ด้วย
ศาสตราจารย์ Faye กล่าวว่า หากนำโมเลกุลนี้ไปผสมในตัวอย่างเลือดที่มีเชื้อมาลาเรียอยู่เเล้ว และนำไปเทียบกับตัวอย่างเลือดที่ไม่มีโมเลกุลนี้ จะพบว่ายุงที่มีเชื้อมาลาเรียในตัวจะมีปริมาณเชื้อโรคในตัวเพิ่ื่มขึ้น 5 เท่าตัว
ศาสตราจารย์ Faye กล่าวว่า ระบบการทำงานของเชื้อมาลาเรียในการเเพร่เชื้ออย่างมีประสิทธิภาพนี้พัฒนามานานหลายล้านปี ช่วยให้เชื้อมาลาเรียสามารถอยู่รอดมาได้และเเพร่ระบาดสู่คนจำนวนมากโดยไม่ทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิต
การพัฒนายาตัวใหม่ๆ เพื่อใช้ลดปริมาณโมเลกุล HMBPP ที่ผลิตโดยเชื้อมาลาเรีย จะไม่ช่วยหยุดยั้งยุงจากการติดตามหาเหยื่อจนเจอ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายุงได้กลิ่นของโมเลกุล HMBPP อย่างรวดเร็ว แม้จะมีโมเลกุลนี้อยู่ในเลือดเพียงเล็กน้อย
ศาสตราจารย์ Faye หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่าหากเราสามารถคิดค้นยาที่ป้องกันไม่ให้เชื้อมาลาเรียผลิตโมเลกุล HMBPP ก็จะเป็นยาที่ดีที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครคิดค้นยาแบบนี้ขึ้นมา
ปัจจุบัน การนอนกางมุ้งที่มีสารกันยุงเคลือบและการใช้ยาฆ่ายุง เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการควบคุมยุง และการวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันมาลาเรียก็กำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้
(รายงานโดย Joe De Capua / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)