ลิ้งค์เชื่อมต่อ

"เชื้อมาลาเรียดื้อยา" อุปสรรคสำคัญในการปราบเชื้อมาลาเรียลุ่มแม่น้ำโขง


This Aug. 26, 2009 photo shows patients suffering from malaria being treated at the hospital in Pailin, Cambodia.
This Aug. 26, 2009 photo shows patients suffering from malaria being treated at the hospital in Pailin, Cambodia.

WHO ชี้ว่าเป็นไปได้ที่จะปราบมาลาเรียให้หมดไปจากชาติลุ่มแม่น้ำโขง แต่มาลาเรียดื้อยาในพื้นที่นี้ยังเป็นปัญหาใหญ่

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:27 0:00

ในปีค.ศ. 2015 องค์การอนามัยโลกหรือ WHO รายงานว่ามีคนเป็นไข้มาลาเรีย 14 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 26,000 คน และในระดับทั่วโลก

ในปีเดียวกัน WHO รายงานว่า มีคนเสียชีวิต 438,000 คนทั่วโลก ส่วนมากเป็นคนในทวีปแอฟริกา และยังเตือนว่ามีคนทั่วโลก 3 พัน 2 เเสนล้านคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด

Deyer Gobinath เจ้าหน้าที่ด้านมาลาเรียแห่ง WHO ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถกำจัดเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ที่มีความร้ายเเรง หรือที่เรียกว่า "มาลาเรีย falciparium" ให้หมดไปจากภูมิภาคภายในอีก 10 ปีข้างหน้า

งานรณรงค์ต่อต้านมาลาเรียขององค์การอนามัยโลกครอบคลุมประเทศพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ประเทศทั้ง 5 เหล่านี้รายงานว่ามีคนเสียชีวิตจากมาลาเรียลดลงอย่างมากถึงราว 49 เปอร์เซ็นต์ตั้งเเต่ปี ค.ศ. 2000

กลุ่มประชากรที่เสี่ยงมากที่สุดต่อการติดเชื้อมาลาเรีย อาศัยในพื้นที่ชายเเดนที่ห่างไกล ขาดเเคลนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เเละการบริการทางการเเพทย์ในพื้นที่

การบำบัดมาลาเรียหลักๆ ที่ใช้กันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นการบำบัดที่มียา Artemisinin เป็นยาหลัก เรียกว่า Artemisinin-based Combination Therapy หรือ ACT

Deyer Gobinath เจ้าหน้าที่ด้านมาลาเรียแห่ง WHO ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ระบบการเเพทย์และเงินสนับสนุนของประเทศไทย ช่วยทำให้จำนวนคนติดเชื้อมาลาเรียลดลง โดยจำนวนคนติดเชื้อมาลาเรียในไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่เพื่อให้มีเกิดความยั่งยืน ต้องมีความมุ่งมั่นทางการเมืองและการรณรงค์ต่อไป"

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกชี้ว่าต้องให้ความสนใจต่อแรงงานต่างด้าวที่ย้ายถิ่นข้ามชายเเดนระหว่างไทยและพม่า โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยให้เเรงงานต่างด้าวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรียเข้าถึงบริการทางการเเพทย์ในพื้นที่ชนบทห่างไกล

เเต่ Maria Dorina Bustos เจ้าหน้าที่ด้านมาลาเรียขององค์การอนามัยโลกที่รับผิดชอบในการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ดื้อยาใน 18 ประเทศทั่วเอเชียเเปซิฟิก กล่าวว่า "เอเชียประสบกับการระบาดของเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ที่ดื้อยา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชายเเดนไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา และไทย-ลาว และการระบาดของเชื้อมาลาเรียดื้อยาในประเทศกัมพูชาก็สร้างความกังวลอย่างมาก"

เธอกล่าวว่า "การใช้ยามาลาเรียปลอมและการบำบัดโรคด้วยตัวเองเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อมาลาเรียดื้อยา และหากเชื้อมาลาเรียไม่ยอมหมดไปจากร่างกายผู้ติดเชื้อหลังการใช้ยารักษา ก็เเสดงว่าเกิดอาการดื้อยา"

Maria Dorina Bustos เจ้าหน้าที่ WHO กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มเเม่น้ำโขง จากที่เเรกเริ่ม พบในบริเวณพื้นที่ชายเเดนทางตะวันตกของกัมพูชา และตอนนี้ได้เเพร่ระบาดไปยังทางตะวันออกและเกือบทั่วประเทศกัมพูชาเเล้ว

ส่วนในเเง่บวก WHO ชี้ว่า มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการวิจัยพัฒนายาบำบัดมาลาเรียชนิดใหม่ๆ เเละบรรดาบริษัทยาใหญ่ๆ มีความมุ่งมั่นในเรื่องนี้

Maria Dorina Bustos เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยาแห่ง WHO กล่าวว่า "ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาเป็นปัญหาหลักที่พบในภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขงโดยเฉพาะ ทั้งในเขตชายเเดนไทย-กัมพูชา ไทย-ลาว และชายเเดนกัมพูชา-เวียดนาม ซึ่งต่างจากในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โซโลมอนไอแลนด์ส และเเม้เเต่อินเดีย บังคลาเทศและเนปาล ที่ยาบำบัดมาลาเรีย ACT แบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป ยังได้ผลดีในพื้นที่เหล่านี้เพราะไม่มีปัญหามาลาเรียดื้อยา"

(รายงานโดย Ron Corben / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)

XS
SM
MD
LG