อุปกรณ์ ‘ฝึกการสั่งงานสมอง’ ช่วยบรรเทา ‘โรคเสียงดังในหู’

ภาพแอนิเมชั่นของการทำงานของ Neuromodulation

“โรคเสียงรบกวนในช่องหู” (Tinnitus) ไม่ได้เกิดจากสาเหตุภายนอก โดยอาการของผู้ป่วยมักจะได้ยินเสียงที่แตกต่างกันไป ซึ่งสร้างความทรมานและความน่ารำคาญ รวมไปถึงบางกรณี ยังกระทบการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

แต่เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้ให้การรับรองอุปกรณ์ที่ช่วย “ฝึกการรับรู้ของสมอง” เพื่อลดผลกระทบจากอาการเสียงดังในช่องหูได้บ้างแล้ว

รอยเตอร์รายงานว่า มีการประเมินว่า ตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวในสหรัฐฯ มีจำนวนนับล้านคน

และแม้จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด อุปกรณ์อย่าง “ลินเนียร์” (Lenire) ที่ FDA ให้การรับรองแล้วอาจเป็นทางเลือกเพื่อช่วยบรรเทาอาการเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นได้

การทำงานของอุปกรณ์นี้เรียกว่าเป็น “การปรับการทำงานของเซลล์ประสาท ผ่านสองกระบวนการ” โดยกระบวนการแรกคือ การใช้อุปกรณ์ส่งเสียงแหลมสูงและทุ้มต่ำผ่านหูฟัง ร่วมกับกระบวนการที่ 2 ซึ่งก็คือ การใช้คลื่นพลังงานไฟฟ้าอ่อน ๆ ส่งไปยังชิ้นส่วนที่ใส่ไว้ในช่องปาก

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า กระบวนดังกล่าวจะทำให้การเชื่อมต่อภายในสมองที่มีต่อเสียงรบกวนปรับลดลงและสมองจะถูกดึงความสนใจจากเสียงในช่องหู

ชาห์ซาด โคเฮน นักโสตสัมผัสวิทยา

ชาห์ซาด โคเฮน นักแก้ไขการได้ยินหรือนักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologist) อธิบายว่า “สมองมีพลังในการเยียวยาตัวเอง และเรากำลังใช้ประโยชน์จากพลังนั้น โดยส่งสัญญาณชี้นำสองประเภทที่แตกต่างกัน ทั้งกระตุ้นไปที่ลิ้นและกระตุ้นการได้ยิน”

โคเฮนทำงานร่วมกับผู้ป่วยโรคเสียงดังในช่องหูมานานราวสิบปีแล้ว และจากจำนวนผู้ป่วยที่รักษาด้วยอุปกรณ์ Lenire ประมาณ 100 คน พบว่า 87 คนมีอาการที่ดีขึ้น

เจฟฟ์ มัทชาน วัย 60 ปี คือ ผู้ป่วยที่รักษากับโคเฮน และบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตั้งแต่เริ่มใช้อุปกรณ์มา แม้อาการหูอื้อจะไม่หายไปทั้งหมด แต่ก็รบกวนเขาน้อยลง โดยเขาเองก็ได้ยินเรื่องราวจากคนอื่น ๆ มาด้วยว่า เมื่อเวลาผ่านไป สมองจะเริ่มเพิกเฉยมากขึ้นต่อเสียงรบกวน

เจฟฟ์ มัทชาน -- ผู้ป่วยโรคเสียงรบกวนในช่องหู

มัทชานบอกว่า สมองจะโปรแกรมเส้นทางการสื่อสารขึ้นมาใหม่ ทำให้ไม่ได้ยินเสียงรบกวนมากนัก หรือไม่ เสียงดังกล่าวอาจจะหายไปเลย ซึ่งตัวเขาเองอยากให้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ก็คิดว่า การที่อาการหูอื้อไม่เป็นอุปสรรคและรบกวนสมาธิตลอดเวลาก็ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว

ผลลัพธ์จากการทดลองครั้งแรกของ Lenire ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 326 คนที่ได้รับการรักษาระยะเวลา 12 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า 80% ของผู้เข้าร่วมการทดลองรายงานว่า ความรุนแรงของอาการหูอื้ออยู่ในระดับที่ดีขึ้น

อุปกรณ์ "Lenire"

รอสส์ โอนีล ผู้ก่อตั้งบริษัท นิวโรโมด ดิไวเซส (Neuromod Devices) ที่อยู่เบื้องหลังอุปกรณ์ Lenire ระบุว่า “มันไม่ใช่การรักษา เราระมัดระวังอย่างมากในการเลือกใช้คำพูด ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาอาการนี้”

โอนีล เสริมว่า อุปกรณ์ Lenire มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเครื่องมือชิ้นแรกและชิ้นเดียวที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA โดยมีข้อมูลทางการแพทย์รับรอง ดังนั้นจึงเป็นก้าวที่สำคัญต่อการเยียวยาผู้ป่วยโรคเสียงดังในช่องหู

  • ที่มา: รอยเตอร์