ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทย์ฯ คาด ช้างมี “ชื่อเฉพาะ” ไม่ต่างจากคน


แฟ้ม - ภาพเมื่อ 3 มี.ค. 2016 ช้างดื่มน้ำที่อุทยานแห่งชาติ Chobe ในบอตสวานา (AP Photo/Charmaine Noronha, File)
แฟ้ม - ภาพเมื่อ 3 มี.ค. 2016 ช้างดื่มน้ำที่อุทยานแห่งชาติ Chobe ในบอตสวานา (AP Photo/Charmaine Noronha, File)

หลายคนอาจเคยตั้งคำถาม ว่าเสียงร้องของสัตว์มีความหมายหรือไม่ ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเสียงจากสัตว์ โดยเฉพาะเสียงของช้างแอฟริกา อาจเป็น “เสียงเรียกชื่อ” ที่มีเอกลักษณ์ เอาไว้ใช้เรียกระหว่างกัน

การวิจัยครั้งใหม่ ระบุว่า “ช้างสะวันนาแอฟริกา” เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าไม่กี่สายพันธุ์ ที่มีพฤติกรรมตอบสนองต่อเสียง ที่เชื่อว่าเป็นการเรียกชื่อ เสียงดังกล่าวมีลักษณะคำรามต่ำ สามารถได้ยินในระยะไกลทั่วทุ่งสะวันนา

นักวิทยาศาสตร์คาดว่า สัตว์ที่มีโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อน เคยอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว เมื่อแยกจากกัน และกลับมารวมกันอีกครั้ง มีแนวโน้มที่สัตว์จะมีชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งถือเป็นเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่สัตว์ป่าจะเรียกระหว่างกันด้วยชื่อเฉพาะ

นอกจากช้างแล้ว สัตว์สายพันธุ์อื่น ที่มีพรสวรรค์ซึ่งหาได้ยาก ในการเรียนรู้ที่จะส่งเสียงที่มีเอกลักษณ์ อย่างเช่น ลูกโลมาที่เชื่อว่าสร้างเสียงคล้ายนกหวีด เป็นชื่อของตนเอง

ตามงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution ระบุว่า เมื่อช้างสื่อสารโดยใช้เสียงคำรามต่ำที่มีความซับซ้อน จะได้ยินไปทั่วทุ่งสะวันนา ท่ามกลางเสียงที่เกิดขึ้น บางครั้งพวกมันก็เรียกชื่อของกันและกัน

นักชีววิทยาใช้เทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิง เพื่อตรวจจับ “การใช้เสียงเรียกชื่อ” โดยเทียบเคียงกับคลังเสียงของช้างที่ถูกบันทึกไว้ ในเขตอนุรักษ์แห่งชาติซัมบูรู (Samburu National Reserve) และอุทยานแห่งชาติอัมโบเซลี (Amboseli National Park) ในประเทศเคนยา

จอร์จ วิทเทไมเออร์ หนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าวว่า เรายังไม่สามารถถอดรหัสได้มากนัก โครงสร้างการสื่อสารของช้างเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ถ้าเราเข้าใจได้ว่าพวกมันสื่อสารอะไรกัน เราก็จะรู้วิธีคิดของพวกมัน

นักวิจัยขับรถตามเพื่อสังเกตพฤติกรรมการส่งเสียงเรียก และการตอบสนองที่เกิดขึ้นในโขลงช้าง เช่น แม่ช้างส่งเสียงเรียกลูกช้าง รวมถึงหัวหน้าโขลงเรียกช้างกลับเข้ากลุ่ม

วิทเทไมเออร์ บอกว่าช้างมีพฤติกรรมที่น่าสนใจอย่างมาก อย่างเช่น เมื่อช้างตัวผู้ส่งเสียงทักโขลงช้างตัวเมีย ช้างตัวเมียส่งเสียงกลับ บางครั้งตัวผู้จำนวนมากก็จะเข้าล้อมและเดินตาม แต่ในบางกรณี ช้างตัวเมียส่งเสียงตอบกลับในลักษณะเดียวกัน แต่มีตัวผู้เพียงตัวเดียวที่เดินเข้าหา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พวกมันมีความตั้งใจ ต้องการจะสื่อสารกับตัวไหน

จากการวิเคราะห์เฉพาะข้อมูลเสียง ด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ สามารถคาดเดาได้ว่ามีช้างตัวไหนถูกกล่าวถึง คิดเป็น 27.5% ในระยะเวลาที่ทำการทดสอบ ซึ่งเชื่อว่ามีชื่อของพวกมันรวมอยู่ด้วย

ไมเคิล พาร์โด หัวหน้างานวิจัย และเป็นนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ระบุว่า “เช่นเดียวกับมนุษย์ ช้างจะใช้ชื่อ แต่อาจจะไม่ใช้ชื่อ (ดังกล่าว) ในการส่งเสียงเรียกเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเราจึงไม่คาดหวังผลแบบ 100%”

เสียงคำรามของช้าง มีส่วนที่เป็นคลื่นเสียงความถี่ต่ำเกินกว่าที่มนุษย์จะได้ยิน นักวิทยาศาสตร์จึงยังไม่ทราบว่าช่วงเสียงส่วนไหนเกี่ยวข้องกับการเรียกชื่อ

นอกจากนี้ ยังได้ทดสอบเปิดเสียงที่บันทึกไว้ หากชุดเสียงที่เชื่อว่ามีชื่อของอยู่ในนั้น ช้างจะกระพือหูและขยับงวงตอบสนอง แต่หากเสียงที่เปิดไม่มีชื่อของมัน ช้างก็จะแสดงความเพิกเฉย

การวิจัยนี้ใช้เวลานานกว่า 25 ปี ดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร ทั้ง Save the Elephants และ ElephantVoices ซึ่งได้เฝ้าติดตามโขลงช้างในประเทศเคนยา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่า การศึกษานี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ ระหว่างช้างและมนุษย์ในอนาคต

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG