นักวิทยาศาสตร์รายงานการพบลำแสงพลังงานสูง 2 ลำที่พุ่งออกมาจากหลุมดำขนาดมหึมาที่อยู่ในกาแล็กซีอันไกลโพ้น โดยระบุว่า ปรากฎการณ์ลำแสงพลังงานที่ว่านี้มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ได้ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่าทางช้างเผือกในระบบสุริยะของเราถึงราว 140 เท่า ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
รอยเตอร์ระบุว่า หลุมดำที่ปล่อยพลังงานขนาดมหึมานี้ออกมาตั้งอยู่ที่ใจกลางกาแล็กซีที่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 7.5 ล้านปีแสง โดย 1 ปีแสงนั้นคือ ระยะทางที่ใช้ในการเดินทางใน 1 ปี หรือราว 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร
และเพราะระยะทางอันห่างไกลขนาดที่ว่า การมองดูวัตถุใด ๆ ก็ตามในอวกาศที่อยู่ไกลโพ้นจึงเป็นการดูแบบย้อนเวลากลับไป โดยการสังเกตการณ์ต่าง ๆ ในอวกาศนั้นเป็นการย้อนไปยังช่วงเวลาที่จักรวาลของเรามีอายุน้อยกว่าที่นับได้ในเวลานี้ราวครึ่งหนึ่ง
หลุมดำ (black hole) นั้นคือ วัตถุที่มีความหนาแน่นอย่างพิเศษมากและมีแรงดึงดูดกำลังสูงจนแม้แต่แสงยังถูกดึงเข้าไปอย่างง่ายดาย ขณะที่ กาแล็กซีส่วนใหญ่ อันรวมถึงทางช้างเผือกของเรา ล้วนมีหลุมดำขนาดใหญ่อยู่ที่ใจกลาง โดยหลุมดำเหล่านี้ยิงอนุภาคที่มีประจุพลังงานระดับสูงเป็นลำพร้อม ๆ กับสนามแม่เหล็ก จากขั้วที่อยู่ตรงข้ามกันของหลุม ออกมายังห้วงอวกาศ ขณะที่เขมือบวัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซ ฝุ่น หรือดวงดาวที่หลุดเข้ามาในวิถีกลับเข้าไปในหลุม
รายงานข่าวระบุว่า พลังงานที่ถูกยิงออกมาจากหลุมดำยักษ์ในกาแล็กซีไกลโพ้นนั้นถูกบันทึกไว้ในรายงานการศึกษาที่ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุซึ่งใช้ลำแสงความถี่ต่ำ (Low-Frequency Array - LOFAR) ซึ่งเป็นเครือข่ายเสาอากาศในเนเธอร์แลนด์ มีความยาวจากปลายข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งถึง 23 ล้านปีแสง
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น