นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกปล่อยตัวในวันอาทิตย์หลังได้รับการพักโทษ รับอิสรภาพเป็นวันแรกหลังถูกยึดอำนาจและลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ 15 ปี ตามการรายงานของรอยเตอร์และเอพี
ทักษิณในวัย 74 ปี เดินทางถึงบ้านจันทร์ส่องหล้าในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ด้วยรถเมอร์เซเดสแวนสีดำ พร้อมนางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวที่เดินทางมาด้วยกัน โดยอดีตนายกฯ ของไทยปรากฏตัวในเสื้อสีเขียว สวมอุปกรณ์พยุงคอและแขน
แพทองธารแชร์ภาพถ่ายจากด้านนอกรถคันดังกล่าวจากผู้ติดตามของเธอในช่องทางอินสตาแกรม พร้อมข้อความว่า “คุณทักษิณถึงบ้านเป็นที่เรียบร้อย ขอให้ท่านสุขภาพแข็งแรง”
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของทักษิณ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า อดีตนายกฯ 2 สมัย ได้ผ่านกระบวนการพักโทษและได้รับการปล่อยตัวออกมาอย่างเป็นทางการ
ที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า มีป้ายผ้าเขียนด้วยครอบครัวของนายทักษิณ ใจความว่า "Welcome home. We've been waiting for this for so long" ที่แปลว่า "ยินดีต้อนรับสู่บ้าน พวกเรารอคอยสิ่งนี้มานานแสนนาน"
ทักษิณใช้เวลาในสถานะนักโทษเป็นเวลา 6 เดือนในโรงพยาบาลตำรวจที่กรุงเทพฯ หลังเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2566 และถูกศาลฎีกาบังคับโทษจำคุก 8 ปีในคดีเกี่ยวกับการใช้อำนาจมิชอบและประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ก่อนจะเข้ารับการรักษาขณะถูกจองจำเนื่องจากอาการเจ็บป่วย
ในเวลาต่อมา เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุก 1 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายทวี สอดส่อง ยืนยันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าทักษิณเข้าเกณฑ์การพักโทษร่วมกับนักโทษรายอื่นที่มีอาการป่วยรุนแรง พิการ หรือมีอายุเกิน 70 ปี ตามการรายงานของเอพี
ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับเอพีว่า เป็นที่เชื่อกันว่าทักษิณยังมีอิทธิพลอยู่มาก และจะยังคงมีบทบาทอยู่เบื้องหลังให้กับพรรคเพื่อไทย ที่ปัจจุบันนำโดยแพทองธารผู้เป็นบุตรสาว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าทักษิณจะยังหลงเหลืออำนาจทางการเมืองแค่ไหน
สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานว่า การพิจารณาคดีของทักษิณได้นำไปสู่เสียงวิจารณ์จากคนไทยจำนวนมากซึ่งบอกว่า คนรวยและผู้มีอำนาจมักได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษต่างจากคนทั่วไป
ขณะที่พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "หากรัฐบาลต้องการจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่คุณทักษิณ ต้องไม่ใช่การตอกย้ำระบบสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมในประเทศ หรือส่งเสริมให้ใครคนใดคนหนึ่งได้รับอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นในทางกฎหมาย แต่ต้องยึดแนวทางที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ทุกคนอย่างทัดเทียมกัน"
- ที่มา: รอยเตอร์, เอพี, บีบีซี