ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตร.ไทยจับสื่อทำข่าวการพ่นสีกำแพงวัง จุดความกังวลเรื่องเสรีภาพ 


ณัฐพล เมฆโสภณ (กลางซ้าย) ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ (กลางขวา) ช่างภาพอิสระ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ศาลอาญารัชดา หลังได้รับการประกันตัว (Courtesy from Prachatai)
ณัฐพล เมฆโสภณ (กลางซ้าย) ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ (กลางขวา) ช่างภาพอิสระ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ศาลอาญารัชดา หลังได้รับการประกันตัว (Courtesy from Prachatai)

ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงสื่อ สมาคมวิชาชีพ และผู้สังเกตการณ์แสดงความกังวลต่อประเด็นแรงกดดันต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในไทย หลังมีรายงานการจับกุมนักข่าวและช่างภาพในไทยจากการไปรายงานข่าวกิจกรรมทางการเมืองที่กำแพงพระบรมมหาราชวังเมื่อปี 2566 แม้ตำรวจจะยืนยันว่ามีหลักฐานเพียงพอ

ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในช่วงเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย ก่อนถูกคุมขังหนึ่งคืนและได้รับการประกันตัวที่ศาลในวันต่อมาด้วยหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท ตามการรายงานของประชาไท

ณัฐพล (คนที่สองจากด้านขวา) ขณะถูกตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงตัวจับกุมพร้อมหมายจับที่หน้าบ้าน เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2567 (Courtesy from Prachatai)
ณัฐพล (คนที่สองจากด้านขวา) ขณะถูกตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงตัวจับกุมพร้อมหมายจับที่หน้าบ้าน เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2567 (Courtesy from Prachatai)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ทั้งสอง ระบุว่าทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โบราณสถาน และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความสะอาดฯ โดยผู้ต้องหาทั้งสองปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

เหตุที่นำมาสู่หมายจับครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 เมื่อประชาชนรายหนึ่งไปพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความตัวเลข 112 ถูกขีดฆ่า และสัญลักษณ์ของผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตย (Anarchist) บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง

ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิด ทั้งสองอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน

พ.ต.อ.ภาวัต วรรธสุภัทร ผกก.สน.พระราชวัง กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันอังคารว่า ตำรวจมีหลักฐานเพียงพอที่จะจับกุมทั้งสอง

ทั้งสองคนยืนยันว่า ได้ไปทำหน้าที่ในฐานะผู้สื่อข่าวในวันเกิดเหตุเท่านั้น ตามการรายงานของเอพี

จุดกระแสกังวลด้านเสรีภาพสื่อ

การจับกุมสื่อมวลชนทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงแรงกดดันที่จะมีต่อการรายงานข่าวในอนาคต

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการของประชาไท ตั้งข้อสังเกตในโพสต์เฟซบุ๊กว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่อาจสร้างความกังวลใจให้กับนักข่าวที่ออกไปทำหน้าที่รายงานข่าว และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย รักษาพื้นที่การทำงานของสื่อมวลชนทั้งที่มีสังกัดและสื่ออิสระ

นับตั้งแต่มีกระแสการเรียกร้องทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีสื่อมวลชนหลายรายได้รับบาดเจ็บ ทั้งจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการปะทะกันระหว่างประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ

ธีรนัย จารุวัสตร์ ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (PFMSea) ประจำประเทศไทย กล่าวกับวีโอเอไทยว่า การจับกุมและคุมขังข้ามคืนเช่นนี้ เป็นมาตรฐานใหม่ของการคุกคามสื่อในไทย

ธีรนัย จารุวัสตร์ ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (PFMSea) ประจำประเทศไทย
ธีรนัย จารุวัสตร์ ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (PFMSea) ประจำประเทศไทย

“เราไปทำข่าวตามหน้าที่ เสร็จแล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน เสนอข่าวตามปกติ จนมารู้ตัวอีกทีหนึ่ง ผ่านไปเกือบปีว่าเรามีคดีติดตัว จริงๆ แล้วตำรวจมีหมายจับเรา แต่เราไม่รู้มาก่อน รู้ตัวอีกทีก็คือเขามาจับตัวเราถึงที่แล้ว”

“มันเป็นฝันร้ายของคนทำงานสื่อโดยทั่วไป ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง พอเกิดเหตุการณ์แบบเมื่อวาน มันเลยเป็นมาตรฐานใหม่ขึ้นมาแล้วว่า เราอาจจะไม่รู้เลยว่า มันอาจจะเกิดขึ้นกับเราวันไหนก็ได้ ถึงตำรวจไม่ได้ห้ามคุณถ่ายในวันนี้ แต่เขาอาจจะเอาเรื่องเก่ามาเล่นงานคุณได้” ธีรนัยกล่าว

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ ระบุว่า สื่อมีหน้าที่รายงานข่าวตามข้อเท็จจริง มิใช่คู่ขัดแย้งหรือส่งเสริมให้กระทำการใด ๆ ถึงแม้จะตำรวจจะสืบสวนว่านักข่าวได้นัดหมายกับแหล่งข่าว แต่กระบวนการทำงานข่าวก็เป็นเรื่องจำเป็นที่นักข่าวต้องพูดคุยหรือสอบถามความเห็นจากแหล่งข่าวเพื่อนำมาเสนออย่างถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน ดังนั้น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงกังวลเช่นกัน ว่าการตั้งข้อหานักข่าวว่าร่วมสนับสนุนการกระทำผิด จะเป็นการบั่นทอนสิทธิ เสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และเรียกร้องให้สื่อกำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานข่าวให้อยู่ในกรอบวิชาชีพและกฎหมาย

ในวันเดียวกันกับที่ทั้งสองได้รับการประกันตัว ได้มีการชุมนุมภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวช่างภาพอิสระและนักข่าวที่ถูกจับกุม

การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวสื่อที่ถูกจับกุม (Courtesy from Prachatai)
การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวสื่อที่ถูกจับกุม (Courtesy from Prachatai)

ในปี 2566 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 106 จาก 180 ตามดัชนีเสรีภาพสื่อโลกที่จัดทำโดยองค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF) ในรายงานของ RSF ยังได้ระบุถึงแรงกดดันของสื่อมวลชนในไทยที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายความมั่นคง และการใช้กำลังของตำรวจในการรับมือกับการชุมนุมประท้วงด้วย

  • ข้อมูลบางส่วนจากเอพี รอยเตอร์และประชาไท

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG