สื่อทั่วโลกยังคงจับตาดูพัฒนาการทางการเมืองไทยหลังผลการเลือกตั้งทั่วไปแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์สลับขั้วการเมืองครั้งสำคัญที่เปิดทางให้ พรรคก้าวไกล ภายใต้การนำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้นำการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ท่ามกลางข้อกังขาว่า พรรคหัวก้าวหน้านี้จะประสบความสำเร็จดังหวังหรือไม่ แม้จะได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดแล้วก็ตาม
รอยเตอร์ ระบุในรายงานข่าวในวันพฤหัสบดีว่า แม้พรรคก้าวไกลจะประกาศว่า สามารถดึงพันธมิตรอีก 7 พรรคมาช่วยตั้งรัฐบาล 313 เสียง จากทั้งหมด 500 เสียงได้ ยังไม่มีการรับประกันใด ๆ ว่า แผนการจัดตั้งรัฐบาลผสมนี้จะเกิดขึ้นได้จริง เพราะพรรคก้าวไกลและพันธมิตรยังคงต้องพยายามวิ่งเต้นและโน้มน้าววุฒิสมาชิกหัวอนุรักษ์นิยมมาช่วยสนับสนุนตนให้ได้
อย่างไรก็ดี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวระหว่างการแถลงข่าวการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคว่า ตนไม่กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และว่าคณะเจรจาและคณะกรรมการเปลี่ยนถ่ายที่พันธมิตรพรรคต่าง ๆ ร่วมจัดตั้งขึ้นจะจัดการทุกอย่างได้ พร้อมแสดงความมั่นใจว่า เมื่อถึงเวลาลงคะแนนเสียงจัดตั้งรัฐบาลในสภาแล้ว จะไม่มีปัญหาใด ๆ และ “ยืนยันว่า ผ่านครับ”
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นที่ติดตามงานแถลงข่าว “การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน” เช่นกัน รายงานว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกลประกาศมั่นว่า พรรคพันธมิตรทั้งหมดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน และยืนยันว่า “รัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน และเราจะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน”
ส่วนหนังสือพิมพ์ออนไลน์ The Independent ของอังกฤษ รายงานว่า ทั้ง 8 พรรคจะลงนามในข้อตกลงร่วม MOU (Memorandum of Understanding) การจัดตั้งรัฐบาลที่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมและวาระของทุกพรรค โดยจะมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้
ขณะเดียวกัน สื่ออัลจาซีรา รายงานด้วยว่า แม้จะมีพรรคการเมืองอีก 2 พรรคประกาศยืนยันเข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงข้ามคืนวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มจำนวน ส.ส. ให้กับพันธมิตรกลุ่มนี้อีก 3 ที่นั่ง พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมอื่น ๆ ยังขาดเสียงสนับสนุนอีกไม่น้อยเพื่อให้ข้ามผ่านเส้นแบ่งที่ 376 เสียงในการรับรองการเสนอชื่อ พิธา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศและจัดตั้งรัฐบาลต่อไปได้
ความมั่นใจของแผนการจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรคภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลมีออกมาแม้พรรคภูมิใจไทยซึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยการกวาด ส.ส. มาได้เป็นอันดับที่ 3 ด้วยจำนวน 70 ที่นั่งจะออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลชูธงเตรียมดำเนินการมาตลอด
ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักรัฐศาสตร์แลกเปลี่ยนจาก ISEAS-Yusof Ishak Institute ในประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทยว่า ส่วนสำคัญของกระบวนการนี้คือ พรรคเพื่อไทยซึ่งมีการคาดหมายก่อนวันเลือกตั้งว่า จะเป็นผู้กวาดที่นั่งมากที่สุด ก่อนผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการจะยืนยันว่า พรรคนี้ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 โดยบอกกับ วีโอเอ ว่า “พรรคเพื่อไทยคือ ผู้เล่นที่สำคัญที่สุด และน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด ถ้าหากพิธาถูกตัดสิทธิ์[เลือกตั้ง] หรือ ถ้าการก่อตั้งรัฐบาลร่วมภายใต้พรรคก้าวไกลล้มไป”
SEE ALSO: รอยเตอร์ตีข่าว "ปัจจัยขวาง" เส้นทางนายกฯ ของพิธาณพล กล่าวเสริมว่า “แนวร่วมนี้จะต้องเพิ่มแรงกดดันต่อวุฒิสภาและพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่ม ให้ลงคะแนนตามหลักการสนับสนุนผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากพอควร เพราะพรรคเหล่านั้นจะต้องลงคะแนนที่ขัดต่อความต้องการของผู้สนับสนุนพรรค ขณะที่ รัฐบาลร่วมที่นำโดยพรรคก้าวไกลอาจถูกบีบให้ต้องเพลา ๆ จุดยืนการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้ได้แรงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาบางคนหรือแม้แต่จากพรรคอื่น ๆ ด้วย”
- ที่มา: รอยเตอร์ อัลจาซีรา ซีเอ็นเอ็น และดิ อินดิเพนเดนท์