สภาอุตฯ เตือนนโยบายขึ้นค่าแรงกระทบศก.ไทยขนานใหญ่

Thailand Daily Life

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยออกโรงเตือนว่า การปรับขึ้นค่าแรงตามนโยบายของพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง อาจกระทบเศรษฐกิจ การจ้างงาน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ หลังจากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเมื่อเดือนที่แล้ว ตามรายงานของรอยเตอร์

เมื่อวันจันทร์พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เห็นชอบที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม หลังได้รับคะแนนเสียงเหนือคู่แข่งที่มีทหารหนุนหลัง ซึ่งปกครองประเทศมาถึง 9 ปี จากการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

เมื่อมองเป็นนโยบายค่าแรงรายพรรค พบว่า พรรคก้าวไกล มีนโยบายว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เริ่มต้นทันที 450 บาท จากระดับค่าแรงเฉลี่ย 377 บาท ในระหว่างที่พรรคเพื่อไทยจะทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถึงระดับ 600 บาท ภายในปี 2027 หรือในระยะ 4 ปีข้างหน้า

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ FTI ให้ทัศนะเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวว่าไม่ได้คัดค้านนโยบายขึ้นค่าแรง แต่รัฐบาลควรกำหนดค่าแรงโดยมีพื้นฐานจากทักษะและประสิทธิภาพของแรงงาน

APTOPIX Thailand Daily Life

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเมื่อวันอังคารว่า “นี่คือประเด็นหลักที่เรากังวล ทุกครั้งที่ค่าแรงปรับขึ้น ความสามารถในการแข่งขันของไทยและการลงทุนทางตรง (FDI) จะลดลง”

ด้านนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่าประเทศไทยควรใช้แนวทางนโยบายค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (average wage) ไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำ (minimum wage) เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้ทัน โดยบอกว่า “หากค่าแรงปรับขึ้นในสัดส่วนที่มาก ธุรกิจขนาดเล็กจะล้มหายตายจากไปเป็นกลุ่มแรก” และ “การปรับขึ้นค่าแรงอย่างรวดเร็วและในปริมาณมากโดยไม่พิจารณาโครงสร้างทางธุรกิจจะทำให้ผู้คนตกงาน”

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ระบุว่า ไทยควรเร่งจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วเพื่อมุ่งแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวในขณะนี้

ขณะที่ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเมื่อเดือนเมษายน ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ที่ระดับ 95.0 จากระดับ 97.8 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และความผันผวนของค่าเงิน

  • ที่มา: รอยเตอร์