Your browser doesn’t support HTML5
บริษัทรถยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ‘เทสลา (Tesla) หันมาพึ่งพาโมซัมบิก ในการจัดหาส่วนประกอบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นข้อตกลงครั้งแรกที่ออกแบบมาเพื่อลดการพึ่งพาแกรไฟต์จากจีน ตามรายงานของเอพี
บริษัท เทสลา ลงนามข้อตกลงกับไซราห์ รีซอร์สเซส (Syrah Resources) บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ที่ดำเนินธุรกิจเหมืองแกรไฟต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่จังหวัดคาโบ เดลกาโด ทางตอนเหนือของโมซัมบิก มีกำลังการผลิตที่ราว 350,000 ตันต่อปี ซึ่งแม้จะยังไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของข้อตกลงนี้ออกมา แต่ถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตสินแร่ที่มีความสำคัญต่อการผลิตแบตเตอรีลิเธียมไอออน
โดยเทสลา จะซื้อส่วนประกอบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่จากบริษัทแปรรูปแกรไฟต์ในรัฐลุยเซียนา ที่รับวัตถุดิบมาจากเหมืองที่โมซัมบิกอีกทอดหนึ่ง โดยเทสลาตั้งเป้าจะซื้อแกรไฟต์ราว 80% จากทั้งหมด 8,000 ตันที่โรงงานดังกล่าวผลิตได้ต่อปี เริ่มต้นในปี 2025
ก่อนหน้านี้ เทสลาได้ทำข้อตกลงกับบริษัทพานาโซนิค เพื่อผลิตแบตเตอรี่ที่โรงงานในรัฐเนวาดา และจะเริ่มต้นผลิตแบตเตอรี่ในโรงงานใหม่ที่ออสติน รัฐเท็กซัส ด้วยเช่นกัน
ในมุมมองของไซมอน มัวร์ส จาก Benchmark Mineral Intelligence ของอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงนี้เป็นแผนการของเทสลาในการลดการพึ่งพาแกรไฟต์จากจีน ซึ่งมีต้นตอมาจากประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่สหรัฐฯต้องการเพิ่มกำลังการผลิตที่เพียงพอสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในประเทศ และข้อตกลงนี้จะเอื้อต่อเทสลาในการเสาะหาแกรไฟต์ที่ไม่ต้องพึ่งพาจีนเป็นหลักได้ นอกจากนี้ การผลิตแบตเตอรี่ในสหรัฐฯ จะช่วยลดประเด็นคำถามที่เทสลาเผชิญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบริษัทกับจีนในช่วงที่ผ่านมา
ด้าน แซม อาบูเอลซามิด นักวิเคราะห์ Guidehouse Insights ให้ทัศนะกับเอพีว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาห่วงโซ่อุปทานให้กับเทสลาได้อีกทางหนึ่งด้วย
(ที่มา: เอพี)