ดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น 7% ในเดือนธันวาคม เทียบกับหนึ่งปีก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นระดับการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ตามรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ
ตัวเลขดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้น 7% นี้สูงกว่าระดับ 6.8% เมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นเพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาขาดแคลนสินค้าเนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้น รวมทั้ง รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ อาหารและเชื้อเพลิงต่าง ๆ
ก่อนหน้านี้ ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องตลอดปี ค.ศ. 2022 นี้ โดย Fed ส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการชะลอเงินเฟ้อด้วยการยุติการซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลังที่มีเป้าหมายเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยรัฐบาลเร็วกว่ากำหนดเดิม
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานคณะผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวกับคณะกรรมาธิการของรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันอังคารว่า การลดระดับราคาสินค้าให้ลงมาอยู่ที่จุดซึ่งมีเสถียรภาพคือกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอเมริกันในระยะยาว
"หากอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงยังคงอยู่ต่อไปและกลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ อาจทำให้ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายการเงินแบบรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยและจะไม่เป็นผลดีต่อตลาดการจ้างงานเช่นกัน" นายพาวเวลล์กล่าว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 6.4 ล้านตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว อัตราการว่างงานลดลงจากระดับ 6.3% เมื่อต้นปีที่แล้วลงมาเหลือ 3.9% ในเดือนธันวาคม ขณะที่รายได้ของคนทำงานทั่วไปเพิ่มขึ้น 5.8% แต่ราคาสินค้าต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
ข้อมูลสถิติของรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ว่า ผู้ขับรถยนต์ต้องจ่ายราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 58% เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ราคารถยนต์มือสองเพิ่มขึ้น 31% รถยนต์ใหม่ราคาเพิ่มขึ้น 11% ราคาเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์ปีก เพิ่มขึ้น 13% และราคาเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้น 12%