กองทัพไต้หวันจับตาภัยคุกคามที่มาจาก ‘ฝูเจี้ยน’ เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ซึ่งเป็นเรือรุ่นใหม่ที่มีความล้ำหน้าที่สุดของกองทัพจีน และคาดว่าจะพร้อมประจำการหลังการทดสอบเดินทะเลในช่วงปีหน้า
การประเมินล่าสุดในรายงาน National Defense Report 2023 ของกองทัพไต้หวัน เปิดเผยถึงความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามที่มาจากเรือฝูเจี้ยนนี้ และยังเรียกร้องให้มีการพัฒนารูปแบบการสั่งการแบบกระจายอำนาจทั่วทั้งหน่วยงานด้านการทหารไต้หวัน โดยอิงจากบทเรียนที่ไต้หวันได้รับจากสงครามของรัสเซียกับยูเครน
รายงานที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ยังชี้ว่าเรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยน ยังได้รวมเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสำคัญจากเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำก่อนหน้าของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน หรือ PLA ได้แก่ เรือซานตงและเรือเหลียวหนิง ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินรูปแบบรัสเซีย
ที่สำคัญที่สุดคือเครื่องบินที่ทะยานออกจากเรือฝูเจี้ยนจะมีการเสริมศักยภาพในการบินด้วยระบบดีดตัวด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 3 ตัว ที่จะมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบเดิมบนเรือบรรทุกเครื่องบินลำอื่น ๆ โดยเทคโนโลยีนี้มีใช้กับเรือบรรทุกเครื่องบินที่ล้ำสมัยที่สุด ในระดับชั้นเจอรัลด์ อาร์. ฟอร์ด ของสหรัฐฯ เท่านั้น
ขุมพลังของระบบดีดตัวของเครื่องบินรบจากเรือฝูเจี้ยนนี้จะช่วยเสริมการส่งตัวให้เครื่องบินรบขนาดใหญ่และกับรันเวย์ที่สั้นกว่าได้ เมื่อรวมกับการพัฒนาดีไซน์อื่น ๆ ของเรือลำนี้ จะทำให้เรือฝูเจี้ยน สามารถบรรทุกเครื่องบินขับไล่ได้ถึง 40 ลำ อ้างอิงจากรายงานด้านกลาโหมของไต้หวัน ขณะที่ เรือซานตงและเรือเหลียวหนิง เรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพจีน 2 ลำก่อนหน้านี้ บรรทุกเครื่องบินขับไล่ได้ราว 18 และ 32 ลำตามลำดับ
ในรายงานยังระบุว่า เรือฝูเจี้ยนจะเข้าจะเสริมศักยภาพของจีนในการปิดตายช่องแคบไต้หวัน รวมทั้งชะลอและป้องกันกองทัพสหรัฐฯ ในการเข้ามาช่วยป้องกันไต้หวันจากการโจมตีจากจีนได้ ซึ่งพลตรีหวง เวิ่น-ฉี ผู้ช่วยรองประธานคณะเสนาธิการทหารด้านข่าวกรอง กล่าวว่า “นี่คือภัยคุกคามทางทะเลครั้งสำคัญที่เราต้องรับมือในอนาคต”
SEE ALSO: ไต้หวันโต้ 'อิลอน มัสก์' ปมแสดงความเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนระหว่างที่กองทัพไต้หวันมองเรือฝูเจี้ยนเป็นภัยคุกคามใหญ่ แต่บรรดานักวิเคราะห์อิสระต่างชี้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังถือว่าใหม่มากสำหรับจีน และยังไม่ได้รับการทดสอบแต่อย่างใด
คิตช์ เหลียว จาก Global China Hub แห่งสถาบัน Atlantic Council ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า ขนาดกองทัพเรือสหรัฐฯ เอง ยังเคยเผชิญกับเรื่องประหลาดใจหลายครั้งในช่วงที่ทดสอบระบบส่งเครื่องบินรบด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาแล้ว
เหลียว เสริมว่า “ปัญหาที่(กองทัพสหรัฐฯ)เจอบ่อย ๆ คือเครื่องส่งมีความแม่นยำเกินไป” และ “ทุกครั้งที่เครื่องส่งดีดตัวออกไป จะทำให้เกิดแรงกดที่โครงสร้างเครื่องบินและอาจสร้างความเสียหายกับเครื่องบินได้อย่างรวดเร็ว กองทัพสหรัฐฯ มีแนวทางในการแก้ปัญหานี้ แต่ไม่แน่ใจว่าทาง PLA จะหาทางแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่”
นอกจากนี้ ริชาร์ด เฉิน ยง กัง ที่ปรึกษา Taiwan Center for Security Studies กล่าวกับวีโอเอว่า จีนยังล้าหลังสหรัฐฯ ในการฝึกฝนนักบินในการบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างฝูเจี้ยนด้วย เมื่อเทียบกับนักบินของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่มีประสบการณ์และผ่านภารกิจทางทะเลมาหลายปี นักบินกองทัพเรือจีนอาจจะเจอภารกิจนี้เพียง 2-3 ครั้งต่อปีเท่านั้น และประเมินว่าประสิทธิภาพในการสู้รบของนักบินจีนอาจอยู่ที่ราว 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับนักบินอเมริกัน และอาจจะเพิ่มขึ้นมาประมาณ 50% ในอีก 5 ปี
ส่วนผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Atlantic Council ประเมินว่าจีนต้องใช้เวลาอีก 2 ปีในการฝึกฝนสำหรับเรือฝูเจี้ยนในการเดินเรือที่พร้อมสำหรับการสู้รบได้จริง
สำหรับการรับมือของไต้หวันในรายงาน National Defense Report 2023 เสนอให้ไต้หวันพัฒนาศักยภาพในการเอาตัวรอดจากเหตุโจมตีด้วยการพัฒนา “ระบบภาพสถานการณ์ร่วม” (common operating picture) เพื่อการสื่อสารและแบ่งปันข้อมูลที่ดีขึ้นระหว่างกองทัพและพันธมิตร
เมื่อเดือนพฤษภาคม มีรายงานว่าไต้หวันจะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในการจัดส่งระบบวิทยุ Link-22 ที่เชื่อมต่อกับสหรัฐฯ สำหรับการจัดตั้งระบบภาพสถานการณ์ร่วม และ Financial Times รายงานเมื่อเดือนมิถุนายนว่า สหรัฐฯ จะจัดส่งโดรน MQ-9B จำนวน 4 ลำให้แก่ไต้หวัน ภายในปี 2025
ซึ่งจนถึงเวลานั้น ทางหน่วยงานกลาโหมไต้หวัน ระบุว่า ไต้หวันจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองแบบเรียลไทม์กับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และสร้างระบบภาพสถานการณ์ร่วมกับทั้งสองประเทศได้
- ที่มา: วีโอเอ