เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งเผยแพร่แผ่นที่มาตรฐานฉบับปี 2023 ของตนออกมา ซึ่งส่งผลให้เกิดเสียงโวยวายไปทั่วพื้นที่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทันที
อินเดีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ต่างส่งสารประท้วงผ่านช่องทางการทูตต่อจีน โดยอ้างว่า จีนทำการควบรวมอาณาเขตหรือพื้นที่ทางทะเลของตนให้เข้ามาอยู่ในพรมแดนของกรุงปักกิ่ง
หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า เสียงเอะอะโวยวายเกี่ยวกับแผนที่ฉบับใหม่ของจีน เป็นเพียงอาการตื่นเต้นของเรื่องไม่เป็นเรื่องเท่านั้น
โฆษกหวังระบุด้วยว่า “[การเผยแพร่แผนที่] เป็นหลักปฏิบัติเป็นประจำของจีนในการประกาศอธิปไตยตามกฎหมาย เราหวังว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะคงไว้ซึ่งมุมมองอันปราศจากอคติและด้วยความสงบ และละเว้นจากการตีความจนเกินจริงไปด้วย”
นี่เป็นการทำให้สังคมเข้าใจผิด
แผ่นที่ฉบับล่าสุดของจีนนั้นแสดงให้เห็นพื้นที่ขนาดใหญ่ครอบคลุมพรมแดนเทือกเขาหิมาลัย 2 จุดที่ทั้งอินเดียและจีนต่างอ้างกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของตน ซึ่งก็คือ อักไซจิน (Aksai Chin) ซึ่งก็คือส่วนที่อยู่สุดภาคตะวันออกของแคว้นแคชเมียร์และส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของจีน และอรุณาจัลประเทศ ซึ่งเป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่ส่วนใหญ่รัฐบาลกรุงนิวเดลีควบคุมอยู่ แต่จีนก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือบางส่วนของธิเบตเช่นกัน
จีนได้ยึดครองธิเบตไว้เป็นของตนหลังทำการรุกรานแคว้นดังกล่าวในปี 1950 และผนวกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในปี 1951
สหรัฐฯ นั้นมีจุดยืนที่ยอมรับว่า อรุณาจัลประเทศเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย
กระทรวงการต่างประเทศอินเดียกล่าวว่า ฝ่ายตน “ได้ยื่นเรื่องประท้วงอย่างหนักผ่านช่องทางการทูตไปยังฝ่ายจีนเกี่ยวกับประเด็นแผนที่แล้ว” และว่า “ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ฝ่ายจีนดำเนินการไปมีแต่จะทำให้การหาทางออกให้กับปัญหาเรื่องเขตแดนยุ่งยากขึ้นไปอีก”
อินเดียและจีนนั้นเป็นคู่กรณีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ชายแดนตามแนวที่รู้จักกันในชื่อ “เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง” ซึ่งเป็นเส้นปักปันเขตแดนระหว่างพื้นที่ควบคุมของอินเดียและของจีนที่มีความยาวราว 3,500 กิโลเมตรซึ่งถูกขีดขึ้นในช่วงสงครามปี 1962
และหลังเกิดเหตุปะทะรุนแรงระหว่างสองฝ่ายที่กินเวลาไม่นานเมื่อปี 2020 อันส่งผลให้มีเหตุเสียชีวิตครั้งแรกที่แนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง นับตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา สถานการณ์ความตึงเครียดก็ปะทุตามมาเป็นระยะ ๆ โดยล่าสุดนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปี 2022 โดยในครั้งนี้ ไม่มีรายงานการเสียชีวิตแต่อย่างใด
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้สร้างจุดตั้งถิ่นฐานของตนในพื้นที่ที่อินเดียอ้างกรรมสิทธิ์ ซึ่งรวมถึงในอรุณาจัลประเทศ ตามรายงานปี 2021 ของเพนตากอนที่เสนอต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ
แต่การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ต่ออาณาเขตใด ๆ ของจีนที่ดูจะขัดกับกฎหมายสากลชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น การสร้างเส้นประ 10 เส้นครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้และไต้หวันไปด้วย
ทั้งนี้ เส้นประที่ว่านั้นกินพื้นที่ทางทะเลที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไนและอินโดนีเซีย
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฏหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea : UNCLOS) ซึ่งจีนเองให้การรับรองด้วยในปี 1996 ให้นิยามว่า เขตเศรษฐกิจจำเพาะนั้นคือ พื้นที่ที่ตั้งแต่ชายฝั่งของรัฐหนึ่ง ๆ ออกมายังท้องน้ำเป็นระยะทาง 370 กิโลเมตร
แต่ในปี 2009 จีนยื่นเรื่องอ้างว่า อาณาเขตในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด รวมทั้งเกาะแก่งในพื้นที่ดังกล่าว เป็นของตน
ในเรื่องนี้ ฟิลิปปินส์ยื่นเรื่องคัดค้านต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวรระหว่างประเทศ และในปี 2016 ศาลแห่งนี้พิพากษาให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ชนะ แต่จีนก็ปฏิเสธไม่รับคำพิพากษาที่ว่าและเดินหน้าทำการรุกรานอุกอาจเข้าใส่ฟิลิปปินส์ต่อไป
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ยามชายฝั่งจีนใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงสกัดเรือกองทัพฟิลิปปินส์ไม่ให้นำส่งเสบียงไปยังเรือรบที่ปลดระวางแล้วและทอดสมออยู่ที่นอกสันดอน Second Thomas Shoal ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์
นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนใช้กำลังในการสกัดเรือของฟิลิปปินส์ไม่ให้เข้าใกล้สันดอนดังกล่าว
ในส่วนของแผนที่ฉบับใหม่ของจีนนั้น ยังมีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซียที่อยู่ใกล้รัฐซาราวักและรัฐซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียว และใกล้บรูไน ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐซาราวักและแบ่งปันแนวชายฝั่งทะเลจีนใต้ยาว 161 กิโลเมตรกับรัฐแห่งนี้
และเช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ มาเลเซียได้ยื่นคำร้องคัดค้านการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนตามแผนที่ฉบับใหม่แล้วเช่นกัน
เรตโน มาร์ซูดิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า เส้นแบ่งเขตแดนและคำกล่าวอ้างใด ๆ ต้องเป็นไปตามเนื้อหาของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฏหมายทะเล
ส่วนเวียดนาม ก็กล่าวว่า ตน “ขอคัดค้านอย่างแข็งขันต่อคำกล่าวอ้างทั้งหมดของจีนในทะเลจีนใต้ที่อ้างอิงตามเส้นประ”
ขณะเดียวกัน ไต้หวัน ซึ่งปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนยืนยันว่า เป็นเกาะที่แยกตัวออกไปจากจีน ก็ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของกรุงปักกิ่งเช่นกัน
เจฟฟ์ หลิว โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันกล่าวว่า “[ไต้หวัน] ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างแน่นอน”
โฆษกหลิวยังกล่าวด้วยว่า “ไม่ว่ารัฐบาลจีนจะบิดเบือนประเด็นเรื่องอธิปไตยของไต้หวันไปอย่างไร ก็ไม่อาจเปลี่ยนความจริงอันปราศจากอคติว่า ประเทศของเรานั้นมีตัวตนอยู่จริง”
แผนที่ล่าสุดของจีนยังแสดงให้เห็นด้วยว่า กรุงปักกิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมเกาะบอลชอย อัสซูรีสกี (Bolshoy Ussuriysky) ซึ่งตั้งอยู่ที่จุดบรรจบกันของแม่น้ำอามูร์และแม่น้ำอัสซูริ ที่บริเวณพรมแดนระหว่างภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซียและภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
ในปี 2008 ทั้งสองประเทศตกลงที่จะแบ่งเกาะแห่งนี้คนละครึ่ง หลังทำการพิพาทประเด็นนี้มานานหลายปี
สถานีข่าว RBC ของรัสเซียกล่าวว่า ได้มีการส่งคำร้องไปยังกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับแผนที่ที่ว่า แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับก่อนเผยแพร่รายงานข่าวเรื่องนี้
ก่อนที่รัสเซียจะส่งกองทัพรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 กรุงปักกิ่งและกรุงมอสโกได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วน “แบบไร้ขีดจำกัด” ระหว่างกัน ขณะที่ แรงสนับสนุนของจีนต่อรัสเซียถูกมองว่า เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากต่อการทำสงครามที่ดำเนินมากว่า 18 เดือนนี้
มาร์ค แคท ศาสตราจารย์จาก Schar School of Policy and Government ของมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน บอกกับผู้สื่อข่าวนิตยสาร Newsweek ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย “ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะออกมาร้องเรียนดัง ๆ” เกี่ยวกับประเด็นแผนที่จีน เมื่อพิจารณาจากการที่รัสเซียต้องพึ่งพาจีนในด้านเศรษฐกิจ หลังมอสโกถูกชาติตะวันตกดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเพราะรุกรานยูเครน
การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านแผนที่ฉบับใหม่ของจีนเกิดขึ้นหลังการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มบริกส์ (BRICS - Brazil, Russia, India, China and South Africa) ที่รัฐบาลแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพที่นครโจฮันเนสเบิร์กเมื่อเดือนที่แล้ว โดยปักกิ่งเองก็หวังจะใช้กลุ่มบริกส์เพื่อถ่วงดุลอำนาจของชาติตะวันตก
การเปิดเผยแผนที่ฉบับนี้ยังออกมาก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 5-7 กันยายน และการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในวันที่ 9-10 กันยายนนี้ด้วย
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ