ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฟิลิปปินส์-ไต้หวัน-มาเลเซีย ร่วมไม่รับแผนที่ทะเลจีนใต้ฉบับใหม่ของกรุงปักกิ่ง


ทะเลจีนใต้
ทะเลจีนใต้

รัฐบาลฟิลิปปินส์ ไต้หวันและมาเลเซีย แสดงจุดยืนร่วมกันในการปฏิเสธไม่ยอมรับแผนที่ทะเลจีนใต้ฉบับใหม่ของกรุงปักกิ่งซึ่งแสดงพื้นที่ที่ตนอ้างว่าเป็นอาณาเขตในอธิปไตยของจีน แต่ประเทศต่าง ๆ ระบุว่า แผนที่นี้ถูกร่างขึ้น “โดยไม่มีมูลความจริง” ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

รัฐบาลกรุงปักกิ่งเปิดเผยแผนที่ใหม่ของตนออกมาในวันจันทร์ โดยมีการลากเส้นเป็นรูปตัวยู (U) ที่กินพื้นที่ราว 90% ของทะเลจีนใต้ แต่ประกาศว่า ผู้ที่อ่านแผนที่นี้ควรใช้เหตุผลและความเป็นกลางในการพิจารณาด้วย

ทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทร้อนแรงนี้ เป็นเส้นทางการเดินเรือที่มีความคับคั่งมากที่สุดเส้นหนึ่งของโลก ด้วยมูลค่าสินค้าที่ขนส่งผ่านสูงถึงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปี

ทั้งนี้ จีนกล่าวว่า เส้นในแผนที่ล่าสุดอ้างอิงข้อมูลจากแผ่นที่ทางประวัติศาสตร์ของตน

เส้นแบ่งเขตแดนรูปตัวยูของกรุงปักกิ่งในแผนที่ทะเลจีนใต้นั้นลากยาวเลยทางใต้ของเกาะไห่หนานไปถึงราว 1,500 กิโลเมตร และตัดผ่านพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone – EEZ) ของเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไนและอินโดนีเซียด้วย

ในวันพฤหัสบดี ฟิลิปปินส์เรียกร้องให้จีน “ดำเนินการต่าง ๆ ด้วยความรับผิดชอบและปฏิบัติตามภาระผูกพันทั้งหลายของตน” ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเมื่อปี ค.ศ. 2016 ซึ่งประกาศให้เส้นเขตแดนที่กรุงปักกิ่งลากขึ้นมานั้นเองไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย

กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ระบุแถลงการณ์ว่า “ความพยายามล่าสุดในการทำให้คำกล่าวอ้างอธิปไตยและเขตอำนาจของจีนเหนือภูมิประเทศและพื้นที่ทางทะเลของฟิลิปปินส์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีมูลใด ๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเลย”

ขณะเดียวกัน มาเลเซียเปิดเผยว่า ตนได้ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการทูตเพื่อคัดค้านสิ่งที่จีนทำแล้ว และกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียก็ออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อความว่า แผนที่ใหม่ของจีนไม่ได้มีอำนาจบังคับใช้ใด ๆ ต่อตนเช่นกัน

รายงานข่าวระบุว่า แผนที่ฉบับล่าสุดนี้แตกต่างจากเวอร์ชั่นก่อนหน้าที่จีนยื่นต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งมีสิ่งที่รู้จักกันในชื่อ ‘เส้นประ 9 เส้น’ อยู่ด้วย โดยเวอร์ชั่นใหม่นี้มีเส้นประ 10 เส้นมาแทนและครอบคลุมอาณาเขตกว้างกว่าเดิม ทั้งยังรวมถึงเกาะไต้หวัน ซึ่งคล้ายกับแผนที่ที่กรุงปักกิ่งเคยตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1948 และ 2013 ด้วย

ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม เจฟฟ์ หลิว โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน เกี่ยวกับประเด็นนี้และได้รับคำตอบว่า ไต้หวัน “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างแน่นอน”

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG