สมาชิกรัฐสภาไต้หวันลงมติในวันพฤหัสบดีเพื่อเลือกประธานสภาคนใหม่ โดยผลที่ออกมาคือ อดีตผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายค้านที่มีขนาดใหญ่ที่สุดได้ดำรงตำแหน่งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ในการเลือกตั้งทั่วไปของไต้หวันเมื่อต้นเดือนมกราคม ไล ชิงเต๋อ ตัวแทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party – DPP) เป็นผู้คว้าชัยไปได้ แต่พรรคไม่สามารถกุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาไว้ได้
SEE ALSO: 'ไล ชิงเต๋อ' ตัวแทนพรรครัฐบาลไต้หวัน ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี
และในวันพฤหัสบดี ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาคือ หาน กั๊ว-หยู ตัวแทนจากพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2020 จาก ไช่ อิง-เหวิน
ภายใต้ระบบของไต้หวัน ประธานสภาคือ ผู้ทำหน้าที่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่เพราะไม่มีพรรคใดสามารถกุมเสียงข้างมากในสภาได้ พรรค DPP และพรรคก๊กมินตั๋งจึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้งานด้านนิติบัญญัติเดินหน้าต่อไปได้
หน้าที่สำคัญหน้าที่หนึ่งของประธานสภาไต้หวันคือ การเป็นเจ้าภาพต้อนรับตัวแทนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่มาเยือนเกาะที่ปกครองด้วยตนเองแห่งนี้ อย่างเช่น กรณีของ แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่มาเยือนไต้หวันเมื่อปี 2022
ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้ ไล ชิงเต๋อ เคยกล่าวไว้ว่า หาน กั๊ว-หยู จะเป็นผู้นำนายกเทศมนตรีที่สังกัดพรรคก๊กมินตั๋งไปเยือนจีนและพบกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ถ้าหากได้เขาได้รับเลือกเป็นประธานสภา ขณะที่ พรรค DPP ออกโฆษณาที่กล่าวหา หาน ว่า เป็นพวกสนับสนุนจีนด้วย
ภายหลังได้รับเลือกดำรงตำแหน่งนี้ หาน บอกกับผู้สื่อข่าวที่สอบถามเรื่องแผนเดินทางเยือนจีนว่า ว่าที่ประธานาธิบดีไล ที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พฤษภาคม “ไม่ควรกังวลใจจนเกินไป” โดยไม่ได้ตอบคำถามว่า ตนมีแผนจะไปจีนหรือไม่
รายงานข่าวระบุว่า หาน เคยเดินทางเยือนสำนักงานประสานงานของรัฐบาลกรุงปักกิ่งที่ฮ่องกงเมื่อปี 2019 ก่อนที่จะประกาศแผนลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และเคยเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ในปีเดียวกัน ทั้งยังได้พบกับเจ้าหน้าที่อาวุโสรัฐบาลปักกิ่ง พร้อมย้ำว่า ตนยึดมั่นในจุดยืนที่ว่า ไต้หวันและจีนนั้นต่างเป็นส่วนหนึ่งของ “จีนเดียว” เสมอ
ขณะเดียวกัน ที่ภายนอกรัฐสภาไต้หวัน มีผู้ประท้วงกลุ่มเล็ก ๆ มาร่วมชุมนุมเพื่อคัดค้านการเลือก หาน เป็นประธานสภาคนใหม่ด้วย
- ที่มา: รอยเตอร์