Your browser doesn’t support HTML5
ในปีค.ศ. 2015 องค์การอนามัยโลกหรือ WHO รายงานว่ามีคนเป็นไข้มาลาเรีย 14 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 26,000 คน และในระดับทั่วโลก
ในปีเดียวกัน WHO รายงานว่า มีคนเสียชีวิต 438,000 คนทั่วโลก ส่วนมากเป็นคนในทวีปแอฟริกา และยังเตือนว่ามีคนทั่วโลก 3 พัน 2 เเสนล้านคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด
Deyer Gobinath เจ้าหน้าที่ด้านมาลาเรียแห่ง WHO ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถกำจัดเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ที่มีความร้ายเเรง หรือที่เรียกว่า "มาลาเรีย falciparium" ให้หมดไปจากภูมิภาคภายในอีก 10 ปีข้างหน้า
งานรณรงค์ต่อต้านมาลาเรียขององค์การอนามัยโลกครอบคลุมประเทศพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
ประเทศทั้ง 5 เหล่านี้รายงานว่ามีคนเสียชีวิตจากมาลาเรียลดลงอย่างมากถึงราว 49 เปอร์เซ็นต์ตั้งเเต่ปี ค.ศ. 2000
กลุ่มประชากรที่เสี่ยงมากที่สุดต่อการติดเชื้อมาลาเรีย อาศัยในพื้นที่ชายเเดนที่ห่างไกล ขาดเเคลนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เเละการบริการทางการเเพทย์ในพื้นที่
การบำบัดมาลาเรียหลักๆ ที่ใช้กันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นการบำบัดที่มียา Artemisinin เป็นยาหลัก เรียกว่า Artemisinin-based Combination Therapy หรือ ACT
Deyer Gobinath เจ้าหน้าที่ด้านมาลาเรียแห่ง WHO ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ระบบการเเพทย์และเงินสนับสนุนของประเทศไทย ช่วยทำให้จำนวนคนติดเชื้อมาลาเรียลดลง โดยจำนวนคนติดเชื้อมาลาเรียในไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่เพื่อให้มีเกิดความยั่งยืน ต้องมีความมุ่งมั่นทางการเมืองและการรณรงค์ต่อไป"
เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกชี้ว่าต้องให้ความสนใจต่อแรงงานต่างด้าวที่ย้ายถิ่นข้ามชายเเดนระหว่างไทยและพม่า โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยให้เเรงงานต่างด้าวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรียเข้าถึงบริการทางการเเพทย์ในพื้นที่ชนบทห่างไกล
เเต่ Maria Dorina Bustos เจ้าหน้าที่ด้านมาลาเรียขององค์การอนามัยโลกที่รับผิดชอบในการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ดื้อยาใน 18 ประเทศทั่วเอเชียเเปซิฟิก กล่าวว่า "เอเชียประสบกับการระบาดของเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ที่ดื้อยา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชายเเดนไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา และไทย-ลาว และการระบาดของเชื้อมาลาเรียดื้อยาในประเทศกัมพูชาก็สร้างความกังวลอย่างมาก"
เธอกล่าวว่า "การใช้ยามาลาเรียปลอมและการบำบัดโรคด้วยตัวเองเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อมาลาเรียดื้อยา และหากเชื้อมาลาเรียไม่ยอมหมดไปจากร่างกายผู้ติดเชื้อหลังการใช้ยารักษา ก็เเสดงว่าเกิดอาการดื้อยา"
Maria Dorina Bustos เจ้าหน้าที่ WHO กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มเเม่น้ำโขง จากที่เเรกเริ่ม พบในบริเวณพื้นที่ชายเเดนทางตะวันตกของกัมพูชา และตอนนี้ได้เเพร่ระบาดไปยังทางตะวันออกและเกือบทั่วประเทศกัมพูชาเเล้ว
ส่วนในเเง่บวก WHO ชี้ว่า มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการวิจัยพัฒนายาบำบัดมาลาเรียชนิดใหม่ๆ เเละบรรดาบริษัทยาใหญ่ๆ มีความมุ่งมั่นในเรื่องนี้
Maria Dorina Bustos เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยาแห่ง WHO กล่าวว่า "ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาเป็นปัญหาหลักที่พบในภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขงโดยเฉพาะ ทั้งในเขตชายเเดนไทย-กัมพูชา ไทย-ลาว และชายเเดนกัมพูชา-เวียดนาม ซึ่งต่างจากในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โซโลมอนไอแลนด์ส และเเม้เเต่อินเดีย บังคลาเทศและเนปาล ที่ยาบำบัดมาลาเรีย ACT แบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป ยังได้ผลดีในพื้นที่เหล่านี้เพราะไม่มีปัญหามาลาเรียดื้อยา"
(รายงานโดย Ron Corben / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)