ปัจจุบันคาดว่ามีผู้ติดเชื้อมาลาเรียราว 200 ล้านคนต่อปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 400,000 คน
นักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นวิธีที่จะใช้ต้นยาสูบในการผลิตยา Artemisinin ซึ่งเป็นยาราคาแพง แต่ให้ผลดีในการต้านเชื้อมาลาเรีย โดยตั้งความหวังว่าวิธีนี้จะทำให้ยาดังกล่าวมีราคาถูกลง
ยาอาร์เตมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งสกัดจากสมุนไพรจีนที่มีชื่อว่า “ชิงเฮา” หรือ Sweet Wormwood บางครั้งถูกใช้ในการรักษาโรคที่มีสาเหตุมาจากยุง โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ายานี้สามารถขับเชื้อโรคออกจากเลือดผู้ติดเชื้อได้ภายใน 48 ชม. แต่ปัญหาคือยาชนิดนี้มีราคาแพงมาก
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าต้นชิงเฮานั้นใช้เวลาปลูกนานถึง 18 เดือน และแต่ละต้นสามารถสกัดยาอาร์เตมิซินินได้เพียงจำนวนน้อยนิด
คุณ Shashi Kumar วิศวกรด้านชีวการแพทย์แห่ง International Center for Genetic Engineering and Biotechnology ของสหประชาชาติ ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ระบุว่าการที่ยาอาร์เตมิซินินสกัดได้ยากเช่นนี้ จึงทำให้มีราคาแพงมาก ส่งผลให้คนยากจนซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคมาลาเรียมากที่สุดนั้น ไม่สามารถซื้อหายานี้ได้
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามหาพืชชนิดอื่นที่สามารถนำใช้สกัดเป็นยาอาร์เตมิซินินได้ และปลูกได้ง่ายในทุกพื้นที่ทั่วโลก เช่น ในทวีปอาฟริกา หรือในอินเดีย ซึ่งพืชที่ว่านั้นคือ ต้นยาสูบ
วิศวกรด้านชีวการแพทย์ผู้นี้และเพื่อนร่วมงาน ค้นพบวิธีใส่ยีนของต้นชิงเฮาเข้าไปในต้นยาสูบ เนื่องจากยาสูบเป็นพืชที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดี และเมื่อรับยีนใหม่เข้าไป นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสารประกอบของยาอาร์เตมิซินิน ปรากฏขึ้นบนใบยาสูบ
นักวิทยาสตร์ที่ศูนย์แห่งนี้ได้ทดลองยาอาร์เตมิซินินที่สกัดจากใบยาสูบกับหนูทดลองที่มีเชื้อโรคแบบเดียวกับเชื้อมาลาเรียที่พบในมนุษย์ ซึ่งผลการทดลองแสดงให้เห็นว่ายาที่สกัดได้จากใบยาสูบให้ผลในการรักษาได้ดีกว่ายาที่มีอยู่ในปัจจุบันเสียอีก
คุณ Shashi Kumar ระบุว่ายังต้องมีการทดสอบกันต่อไปเพื่อดูว่ายาอาร์เตมิซินินที่สกัดจากใบยาสูบนั้น มีประสิทธิภาพในการต้านทานหรือรักษาโรคที่เกิดในมนุษย์หรือไม่
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ชุดนี้ยังพยายามค้นหาพืชชนิดอื่น โดยเฉพาะพืชที่รับประทานได้ เพื่อนำมาใช้ในการสกัดยาต้านเชื้อมาลาเรียดังกล่าวต่อไป
คุณ Kumar ยกตัวอย่างพืชอย่างเช่น ผักกาดหอม และ ผักขม ซึ่งอาจนำมาสกัดเป็นผงแป้งที่มีส่วนประกอบของยาอาร์เตมิซินิน แล้วนำไปใส่ในแคปซูล บรรจุขวด แล้ววางขายตามร้านขายยาต่างๆ ซึ่งหากทำได้อย่างที่ว่าจริง ยาอาร์เตมิซินินที่สกัดจากพืชผักเหล่านั้นจะมีราคาถูกลงมาก
รายงานเรื่องการสกัดยาต้านเชื้อมาลาเรียจากใบยาสูบชิ้นนี้ ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร "Molecular Plant"
(ผู้สื่อข่าว Jessica Berman รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)