ท่ามกลางกระแสต่อต้านการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย บริษัทชื่อดังหลายแห่งจากภาคธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่แฟชั่น พลังงาน รถยนต์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ร่วมกันปิดสำนักงานและฐานการผลิตในรัสเซีย เพื่อร่วมแสดงจุดยืนในแง่การรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรด้วยการสนับสนุนยูเครน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การทำสงครามของรัสเซียในยูเครนส่งผลให้รัฐบาลเครมลินถูกคว่ำบาตรและลงโทษด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจมากมายจนทำให้เศรษฐกิจรัสเซียพัง ซ้ำยังขัดขวางการให้บริการและดำเนินงานของบริษัทต่างชาติในรัสเซียอีกด้วย
แมรี่ เลิฟลี่ นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งสถานบันรัฐศาสตร์ Peterson Institute ในกรุงวอชิงตัน อธิบายว่า “รัสเซียได้กลายเป็นประเทศที่ถูกผู้ประกอบธุรกิจที่ทั่วโลกรังเกียจและหันหลังให้” และว่า “แทบไม่มีบริษัทใด รวมทั้งบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย ต้องการจะเอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรืออยู่กับฝ่ายเดียวกับประเทศที่โดนมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก”
อย่างไรก็ตาม คำสั่งของรัฐบาลเครมลินที่ห้ามไม่ให้นักลงทุนเทขายทรัพย์สินในรัสเซียได้สร้างความยากลำบากให้กับบริษัทต่างๆ ที่ต้องตบเท้าออกจากรัสเซียไป โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีรัสเซีย มิคาอิล มิชูสติน ออกมากล่าวว่า รัสเซียจะพยายามช่วยให้บริษัทสามารถตัดสินใจได้ถูก แทนการที่บริษัทเหล่านี้จะยอมจำนนต่อมาตรการลงโทษจากนานาชาติ
แต่บริษัทพลังงานทั้งใหญ่และเล็กก็ได้ประกาศยกเลิกการลงทุนในโครงการใหญ่ๆกับรัสเซียแล้ว โดยบีพี (BP) ถอนหุ้นมูลค่าถึง 14,000 ล้านดอลลาร์จากโครงการพลังงานรอสเนฟต์ (Rosneft) ของรัฐบาลรัสเซียเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่วนในวันรุ่งขึ้น บริษัทเชลล์ (Shell) ก็ประกาศยกเลิกการร่วมลงทุนกับบริษัท ก๊าซพรอม (Gazprom) ของรัฐบาลรัสเซียที่มีบทบาทสำคัญในโครงการท่อส่งน้ำมัน Nord Stream 2 ที่ลำเลียงพลังงานจากรัสเซียไปยังยุโรป และเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) ได้ประกาศยุติการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ของรัสเซียด้วยเช่นกัน
บรรดาบริษัทในภาคธุรกิจอื่นๆ ต่างออกมาประณามรัสเซียอย่างชัดเจนต่อการส่งกองทัพบุกยูเครนกันมากมาย เพราะปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นทั้งการป้องกันธุรกิจจากมาตรการลงโทษเศรษฐกิจและการรักษาภาพลักษณ์ของตนด้วย
ทางภาคการผลิตรถยนต์และมอเตอร์ไซค์อย่าง โตโยต้า (Toyota) เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) และ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน (Harley-Davidson) รวมทั้งแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง เช่น H&M และ ไนกี้ (Nike) และบริษัทขายของแต่งบ้าน Ikea ต่างระบุว่า มีความกังวลต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นอย่างยิ่ง ส่วนวอลโว่ (Volvo) ชี้ถึงความเสี่ยงในการทำการซื้อขายชิ้นส่วนการผลิตต่างๆ กับรัสเซียด้วย และบริษัทผลิตเครื่องบินโบอิ้ง (Boeing) และแอร์บัส (Airbus) เองก็ร่วมระงับบริการซ่อมแซมดูแลและบริการสนับสนุนด้านเทคนิคแก่สายการบินรัสเซียแล้ว
ขณะเดียวกัน บริษัท แอปเปิล (Apple) เปิดเผยว่า ทางบริษัทหยุดจำหน่ายโทรศัพท์ไอโฟนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในรัสเซีย และยังปรับเปลี่ยนแอปพลิเคชั่นแผนที่ในระบบปฏิบัติการของตนเพื่อปกป้องชาวยูเครน และจำกัดไม่ให้ผู้ใช้งานที่อยู่นอกรัสเซียดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นของสื่อทางการรัสเซียได้
SEE ALSO: บริษัทยักษ์ใหญ่อเมริกันเดินหน้าแบนรัสเซียหลังบุกรุกยูเครน
ทางด้านกูเกิล (Google) ติ๊กต๊อก (TikTok) และ เฟซบุ๊ก (Facebook) สั่งห้ามไม่ให้สถานี RT และสื่อรัสเซียอื่นๆ ทำรายได้โฆษณาบนพื้นที่ของตน เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น และวิดีโอบนยูทูป (Youtube) ส่วนเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ได้ยกเลิกการถ่ายทำและการลงทุนในโครงการต่างๆในรัสเซียด้วย
สำหรับบางบริษัทที่มีฐานการผลิตและความสัมพันธ์ยาวนานกับประเทศรัสเซียบางแห่ง การปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันก็ต่างกันไป เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ เรโนลต์ (Renault) ของฝรั่งเศส ออกมาประกาศเพียงว่า จะระงับการผลิตในโรงงานที่กรุงมอสโก ส่วนบริษัทผลิตเบียร์ คาร์ลสเบิรก (Carlsberg) สัญชาติเดนมาร์กยังคงยืนยันที่จะเปิดโรงงานในนครเซนต์ปีเตอส์เบิร์กของรัสเซียต่อไป
ทางด้าน เจมส์ โอร็อคคี่ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพลักษณ์องค์กรแห่งมหาวิทยาลัย Notre Dame’s Mendoza College of Business ให้ความเห็นว่า “ในช่วงที่สถานการณ์ปกติ การทำธุรกิจในรัสเซียก็ถือว่ามีความยากลำบากอยู่พอตัวแล้ว ส่วนในตอนนี้มันวุ่นวายมาก คิดว่าการถอนธุรกิจออกมาจากรัสเซียในยามนี้เป็นจึงเป็นสิ่งที่ฉลาดและสมควรทำ”
เขาพูดเสริมด้วยว่า การทำธุรกิจกับรัสเซียในตอนนี้เปรียบเสมือนกับการทำธุรกิจกับครอบครัวแมนสัน ซึ่งผู้นำของครอบครัวนี้คือ ชาร์ล แมนสัน ผู้คลั่งลัทธิทางศาสนาและฆาตกรสังหารโหดชื่อดัง ดังนั้น บริษัทต่างๆจึงไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว รัสเซีย และเมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว อาจารย์ผู้นี้บอกว่า บริษัทเหล่านี้คงไม่มีประสบความเสียหายมากนัก หากจะถอนตัวออกจากรัสเซีย
ทั้งนี้ สำหรับกระแสการระงับธุรกิจในรัสเซียของแบรนด์ดังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น สำนักข่าวเอพีชี้ว่า เป็นผลมาจากทั้งมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศและกระแสสังคมที่องค์กรต้องตอบรับ เพราะทั่วโลกกำลังเฝ้าดูความหายะทางด้านมนุษยชนจากสงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
วาเนสซ่า เบอบาโน่ อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Columbia Business School ในนครนิวยอร์กได้เตือนถึงการที่แบรนด์ดังร่วมกันหยุดทำธุรกิจในรัสเซียว่าอาจจะเป็น การฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึง การที่องค์กรพยายามหลอกผู้บริโภคด้วยการสร้างภาพลักษณ์หรือการกระทำต่างๆแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แม้ในความเป็นจริงและในภาคปฏิบัตินั้น องค์กรเหล่านี้ไม่เคยคิดจะคำนึงถึงสิ่งข้างต้นเลย
เธอกล่าวเสริมว่า “ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนหรือ เช่น พนักงานและผู้บริโภคนั้นอยากจะเห็นว่าการกระทำและพฤติกรรมของบริษัทต่างๆตรงกับสิ่งที่บริษัทเหล่านี้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนชาวยูเครนจริง”
อย่างไรก็ดี บางบริษัท เช่น เลโก้ (Lego) ฟอร์ด (Ford) และโฟล์กสวาเกน (Volkswagen) ได้ทำมากกว่าการระงับการส่งสินค้าหรือปิดการทำการ โดยมีการช่วยเรี่ยไรเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์และนำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครนแล้ว
- ที่มา: สำนักข่าวเอพี