ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์ชี้ ป้อมปราการเศรษฐกิจของรัสเซียจะค่อย ๆ ทลายลงด้วยชุดมาตรการลงโทษ


FILE - Woman walks past a board showing currency exchange rates of the euro and U.S. dollar against the Russian rouble in Moscow, Nov. 2, 2020.
FILE - Woman walks past a board showing currency exchange rates of the euro and U.S. dollar against the Russian rouble in Moscow, Nov. 2, 2020.

รัสเซียได้ใช้เวลาในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาในการสร้างป้อมปราการทางการเงินที่แน่นหนาของประเทศ แต่นักวิเคราะห์มองว่าในระยะยาว เศรษฐกิจของรัสเซียจะไม่สามารถทนต่อการโจมตีด้วยมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก

ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้พร้อมใจกันตอบโต้รัสเซียด้วยมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เปิดฉากโจมตียูเครน ซึ่งเป็นการลงโทษเพิ่มเติมหลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้นำรัสเซียได้ประกาศยอมรับเอกราชของสองเขตการปกครองในยูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซีย

มาตรการลงโทษของชาติตะวันตก ประกอบด้วยการระงับการดำเนินการด้านทรัพย์สินของธนาคารและนักธุรกิจรัสเซีย การยุติไม่ให้รัสเซียระดมทุนในต่างประเทศ การระงับโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 2 ในเยอรมนี และการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่าง เซมิคอนดัคเตอร์ เป็นต้น

FILE PHOTO: Logo of the Nord Stream 2 gas pipeline project is seen on a large diameter pipe
FILE PHOTO: Logo of the Nord Stream 2 gas pipeline project is seen on a large diameter pipe

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัสเซียได้เพิกเฉยต่อชุดมาตรการลงโทษเหล่านี้ โดยมองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 643,000 ล้านดอลลาร์ และมีรายได้อย่างงามจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รัสเซียได้รับการขนานนามว่ามี “ป้อมปราการทางเศรษฐกิจ” นอกจากนี้รัสเซียยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) และมีอัตราหนี้สินร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งเป็นอัตราที่จัดว่าต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ครึ่งหนึ่งของหนี้สินของประเทศเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ​ ซึ่งลดลงจากร้อยละ 80 เมื่อยี่สิบปีก่อน

ตัวเลขเหล่านี้เกิดจากการเก็บออมของรัฐบาลกรุงมอสโก หลังจากที่ถูกลงโทษด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจหลังเกิดการผนวกไครเมียโดยรัสเซียในปี ค.ศ.2014

A view shows Russian rouble coins in this picture illustration taken October 26, 2018. Picture taken October 26, 2018. REUTERS/Maxim Shemetov
A view shows Russian rouble coins in this picture illustration taken October 26, 2018. Picture taken October 26, 2018. REUTERS/Maxim Shemetov

คริสโตเฟอร์ แกรนวิลล์ (Christopher Granville) ผู้อำนวยการจัดการของบริษัทที่ปรึกษา ทีเอส ลอมบาร์ด (TS Lombard) และเป็นผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวในรัสเซียมาเป็นเวลานาน ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า การมองว่ารัสเซียจะไม่ได้รับผลกระทบเลยนั้นเป็นการคิดที่ผิด ผลกระทบจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเหล่านี้อาจจะไม่มีผลโดยทันที แต่จะเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของรัสเซียในระยะยาว

แกรนวิลล์กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูงช่วยให้รัสเซียมีรายได้เพิ่มขึ้นมา 17,200 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ จากการเก็บภาษีกำไรของบริษัทพลังงานต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม นโยบายการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นมีราคาค่างวดของตัวมันเอง นั่นคือการถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเศรษฐกิจ ตลาดและการลงทุนของโลก

เขามองว่า รัสเซียจะได้รับการปฏิบัติเหมือนประเทศที่เป็นศัตรู ที่ถูกตัดออกจากการหมุนเวียนของเศรษฐกิจและการลงทุนโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต การสร้างรายได้ การเพิ่มผลผลิต และผลกำไรของบริษัทต่าง ๆ

สัญญาณของความเปราะบางของเศรษฐกิจรัสเซียนั้นมีออกมาให้เห็นบ้างแล้ว รายได้ครัวเรือนของรัสเซียนั้นยังอยูต่ำกว่าระดับในปี ค.ศ.2014 และในปี ค.ศ.2019 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ผลผลิตทางเศรษฐกิจของรัสเซียมีมูลค่า 1.66 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.2013 ตามการรายงานของธนาคารโลก

เซอร์เก เกอเรียฟ (Sergei Guriev) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และอดีตประธานนักเศรษฐศาสตร์แห่ง ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและพัฒนา (European Bank for Reconstruction and Development) ชี้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เป็นตัวเงินต่อหัวของรัสเซียนั้นเคยคิดเป็นสองเท่าของประเทศจีนในปี ค.ศ.2013 แต่ปัจจุบันกลับน้อยกว่าจีน ในปีนั้นรัสเซียเคยเป็นประเทศรายได้สูง แต่ในปัจจุบันรัสเซียกลับมาอยู่ในหมวดประเทศรายได้ปานกลางอีกครั้ง

อิทธิพลที่แผ่วลง

นักลงทุนต่างชาติในรัสเซียนั้น นับวันยิ่งมีน้อยลงด้วยเช่นกัน

การสำรวจของ เจพีมอร์แกน (JPMorgan) แสดงให้เห็นว่าการถือพันธบัตรสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียโดยนักลงทุนต่างประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี อีกทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น ยังไม่เคยกลับไปอยู่ในระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤตไครเมีย

เจฟฟรีย์ ชอทท์ (Jeffrey Schott) ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงโทษทางเศรษฐกิจแห่งสถาบัน Peterson Institute for International Economics กล่าวว่ามาตรการการลงโทษทางเศรษฐกิจนั้นจะบังคับให้รัสเซียต้องพึ่งพาตนเองในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น จะลดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และในการลงทุนทางทหาร

หากมีการลงโทษที่รุนแรงกว่านี้อาจจะทำให้รัสเซียถูกตัดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศหรือ SWIFT ที่ธนาคารทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลาย และการห้ามไม่ให้มีการลงทุนใด ๆ ทั้งสิ้นในรัสเซีย

การถูกขับออกจากระบบ SWIFT จะสร้างความยุ่งยากให้การชำระเงินเพื่อการส่งออกและนำเข้าของรัสเซีย อีกทั้งจะยังทำให้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยของตราสารหนี้ และทำให้เกิดการผิดนัดชำระเงินทางเทคนิคได้ เจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจะเฉือนการเติบโตทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของรัสเซียออกไปร้อยละ 3.5

Police officers detain a demonstrator in St. Petersburg, Russia, Thursday, Feb. 24, 2022. Hundreds of people gathered in the centers of Moscow and St.Petersburg on Thursday, protesting against Russia's attack on Ukraine.
Police officers detain a demonstrator in St. Petersburg, Russia, Thursday, Feb. 24, 2022. Hundreds of people gathered in the centers of Moscow and St.Petersburg on Thursday, protesting against Russia's attack on Ukraine.

การเข้าถึงเงินทุนต่างชาติที่เป็นไปอย่างจำกัดจะยังทำให้บริษัทน้ำมันต้องพึ่งพาการชำระเงินล่วงหน้า และทำให้มีต้นทุนในการประกอบกิจการสูงขึ้น

คุณภาพชีวิตที่ลดต่ำลงอย่างช้า ๆ ยังเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ และส่งผลร้ายต่อรัฐบาลกรุงมอสโคที่ทุกวันนี้ต้องเผชิญกับการประท้วงเป็นครั้งคราวอยู่แล้ว

นักวิเคราะห์แห่งธนาคารเพื่อการลงทุน เบเรนเบิร์ก (Berenberg) กล่าวว่านโยบายการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่สูตรที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้า และการจัดการกับรัสเซียที่พรั่งพร้อมไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ตั้งอยู่บนเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้นั้น จะเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับยุโรปและสหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้นี้

XS
SM
MD
LG