Your browser doesn’t support HTML5
รัสเซียและฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาให้จัดการซ้อมรบร่วมกัน ภายใต้นโยบายใหม่ของรัฐบาลประธานาธิบดี โรดริโก้ ดูเตรเต้ ที่เน้นความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจในเอเชียมากขึ้น พร้อมไปกับการขยับออกห่างจากพันธมิตรเก่าแก่ อย่างสหรัฐฯ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลกรุงมอสโคว์ส่งเรือสองลำไปยังกรุงมะนิลา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศ โดยผู้สังเกตการณ์เชื่อว่ารัสเซียมีเป้าหมายเสนอขายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้กับฟิลิปปินส์ ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ต้องการปรับปรุงกองทัพของตนเอง
ปัจจุบัน รัสเซียมีกองทัพขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากอเมริกา ขณะที่กองทัพฟิลิปปินส์ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 51
รองศาสตราจารย์ Eduardo Araral แห่ง National University of Singapore ชี้ว่าประธานาธิบดี โรดริโก้ ดูเตรเต้ ชื่นชอบประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นพิเศษ และต้องการสร้างความสัมพันธ์กับรัสเซียผ่านการซื้อขายอาวุธเพื่อยกระดับกองทัพฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันก็ต้องการเป็นอิสระจากสหรัฐฯ ในระดับหนึ่ง
ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน มิ.ย ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีดูเตรเต้ได้เน้นย้ำว่าต้องการขยับออกห่างจากสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของฟิลิปปินส์ และหันไปสานสัมพันธ์กับจีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย มากขึ้น
ประธานาธิบดีดูเตรเต้เดินทางเยือนจีนและญี่ปุ่นเมื่อเดือนตุลาคม และกลับมาพร้อมเงินช่วยเหลือและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากทั้งสองประเทศนั้น ต่อจากนั้น เขาได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีปูติน ระหว่างการประชุมเอเปกที่เปรูเมื่อเดือน พ.ย. ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ผู้นี้ได้กล่าวกับประธานาธิบดีปูตินอย่างตรงไปตรงมา ว่าต้องการตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯ
ท่าทีดังกล่าวของผู้นำฟิลิปปินส์ยิ่งชัดเจน เมื่อเขาได้กล่าวถ้อยคำรุนแรงต่อประธานาธิบดีโอบาม่า ระหว่างที่ผู้นำสหรัฐฯ เยือนเอเชีย หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรณีการวิสามัญฆาตกรรมชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก ภายใต้โครงการปราบปรามยาเสพติด
รองศาสตราจารย์ Eduardo Araral เชื่อว่าหากรัสเซียมีข้อตกลงขายอาวุธให้กับกองทัพฟิลิปปินส์ ข้อตกลงนั่นจะไม่มีเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งแตกต่างจากข้อตกลงซื้อขายอาวุธกับสหรัฐฯ เนื่องจากรัฐบาลกรุงวอชิงตันระบุไว้ว่า อาวุธที่ซื้อขายกันนั้นต้องไม่ถูกนำไปใช้ในโครงการต่อต้านยาเสพติดอื้อฉาวของฟิลิปปินส์
สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลกรุงมะนิลามีท่าทีต้อนรับเรือจากรัสเซียอย่างยินดี และได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจที่ระบุว่า ฟิลิปปินส์กับรัสเซียอาจมีการแลกเปลี่ยนทางการทหาร และอาจรวมถึงการซ้อมรบร่วมกันได้ในอนาคต
ด้านคุณ Sean King รองประธานองค์กรที่ปรึกษาด้านการเมือง Park Strategies ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า การสานสัมพันธ์ทางทหารครั้งล่าสุดระหว่างฟิลิปปินส์กับรัสเซีย เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณจากกรุงมอสโคว์ไปยังกรุงวอชิงตัน ว่ารัสเซียสามารถเข้าไปแทรกในดินแดนที่เคยเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของอเมริกาได้อย่างง่ายดาย
ส่วนคุณ Fabrizio Bozzato แห่งมหาวิทยาลัย Tamkang ในไต้หวัน เชื่อว่าเวลานี้รัสเซียกำลังต้องการสร้างเขตเชื่อมระหว่างดินแดนยูเรเซีย ตั้งแต่แคว้นไบเอลโลรัสเซียทางตะวันตกของรัสเซีย ลงมาจนถึงแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และเชื่อว่าการเชื่อมสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ จะเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ดังกล่าวของรัสเซีย
(ผู้สื่อข่าว Ralph Jennings รายงานจากกรุงไทเป / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)