ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อาเซียนสะเทือน! หลังคำประกาศของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่จะแยกตัวออกจากสหรัฐฯ


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:25 0:00

ฟิลิปปินส์จะเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมอาเซียนในปีหน้า ซึ่งเป็นปีที่อาเซียนมีอายุครบ 50 ปีด้วย แต่คำประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ของประธานาธิบดี Duterte ในระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่งที่ว่าจะแยกตัวจากสหรัฐ และกระชับความสัมพันธ์กับจีน ทำให้เกิดความตื่นตะลึงในหลายประเทศ

แม้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์จะให้คำอธิบายในเวลาต่อมาว่า การแยกตัวจากสหรัฐนั้น หมายความถึงการแยกนโยบายต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ที่ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐอีกต่อไปก็ตาม

แต่นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวของประธานาธิบดี Duterte ได้ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในหมู่ชาติภาคีอาเซียน

ศาสตราจารย์ Carl Thayer นักวิเคราะห์ด้านการป้องกันประเทศที่มหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กระทำไปโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับภาคีอาเซียนก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟิลิปปินส์จะต้องปรับความเข้าใจกับบรรดาสมาชิกอาเซียนต่อไป

แต่ที่เป็นผลเชิงบวกตามความเห็นของนักวิเคราะห์ผู้นี้ คือการเยือนจีนของประธานาธิบดี Duterte ดูจะช่วยลดความตึงเครียดเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ลงได้

อาจารย์ Carl Thayer กล่าวว่า การดำเนินการของประธานาธิบดี Duterte ในเรื่องทะเลจีนใต้ ช่วยลดความตึงเครียด ในขณะที่ให้สิ่งจูงใจแก่จีนที่จะตอบรับการริเริ่มทางการทูตจากฟิลิปปินส์

Philippines US: Filipino tribal groups and activists shout slogans as they burn a mock U.S. flag near the Malacanang presidential palace in Manila, Philippines, Friday, Oct. 21, 2016.
Philippines US: Filipino tribal groups and activists shout slogans as they burn a mock U.S. flag near the Malacanang presidential palace in Manila, Philippines, Friday, Oct. 21, 2016.

แต่รองศาสตราจารย์ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการ Institute of Security and International Studies ในกรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไม่แน่นอนของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ อาจส่งผลกระทบสมาคมอาเซียนในระยะยาว

อาจารย์ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์กล่าวว่า ฟิลิปปินส์และประเทศไทยเป็นพันธมิตรของสหรัฐมาเป็นเวลายาวนานตามสนธิสัญญาที่ทำกันไว้ แต่เวลานี้ทั้งสองประเทศมีความระหองระแหงกับอเมริกา ซึ่งอาจจะเป็นจุดพลิกอย่างสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนในภูมิภาคก็ได้

นักวิชาการไทยผู้นี้ให้ความเห็นไว้ด้วยว่า ความเสี่ยงในอีกเรื่องหนึ่งคือ อนาคตของนโยบายปรับสมดุลสู่เอเชียของประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะทำให้สหรัฐต้องปรับนโยบายในระดับภูมิภาคของตน ในขณะที่จีนเพิ่มอิทธิพลเหนือกัมพูชา ลาว เมียนม่าร์ และประเทศไทยต่อไป

อาจารย์ ฐิตินันท์ กล่าวส่งท้ายว่า ทั้งหมดนี้ไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน เพราะอาเซียนต้องการสมดุลระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง โดยไม่ต้องการเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป

ขณะเดียวกัน Ashley Townsend นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยซิดนี่ย์ในออสเตรเลีย บอกว่า ภาคีอาเซียนจะประสบความยุ่งยากมากขึ้นในการหาจุดร่วมเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น การที่จีนถมทะเลสร้างเกาะ และส่งกำลังทหารไปประจำการตามเกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้

นักวิจัยผู้นี้บอกว่าการกระทำที่ไม่ชัดเจนแน่นอนของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ทำให้ภาคีอาเซียนประสบความยุ่งยาก เพราะเคยชินกับการมีนโยบายต่างประเทศที่มีความเสถียร แต่เวลานี้ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ประธานาธิบดี Duterte จะพูดอะไร หรือทำอะไรต่อไป

แต่รองศาสตราจารย์ Dennis Quilala ที่มหาวิทยาลัย Phillipines ให้ความเห็นว่า นโยบายของประธานาธิบดี Duterte ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ด้วยการลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการชาวฟิลิปปินส์ผู้นี้ก็หวังด้วยว่า นโยบายดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ ด้วยการช่วยให้ฟิลิปปินส์ทำงานร่วมกับมหาอำนาจทั้งสองประเทศนี้ได้ต่อไป แทนที่จะอิงจีนแต่เพียงประเทศเดียว

XS
SM
MD
LG