องค์กรสิทธิ์ของอาเซียน ระบุว่าเมียนมาเตรียมประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในวันอังคาร จากคำตัดสินเกี่ยวกับคดียิงบนรถไฟในนครย่างกุ้งเมื่อปี 2021
กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) แสดงความกังวลหลังได้รับรายงานจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เรื่องการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว 5 ราย ที่ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมและครอบครองอาวุธผิดกฎหมาย ในการพิจารณาคดีแบบปิด ซึ่งนักเคลื่อนไหวทั้ง 5 รายรับฟังคำตัดสินภายในเรือนจำอินเส่ง
หว่อง เฉิน กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ระบุในแถลงการร์ว่า “การใช้การประหารชีวิตเป็นเครื่องมือในการกดขี่ผู้เห็นต่างเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และต้องได้รับการประณามอย่างรุนแรง” โดยระบุว่า การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง พร้อมเรียกร้องให้สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐระงับกระบวนการดังกล่าวและปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทั้ง 5 รายทันที
Your browser doesn’t support HTML5
ทีมทนาย ครอบครัว และทางการเรือนจำที่วีโอเอติดต่อไปไม่สามารถยืนยันได้ว่าการประหารชีวิตจะเกิดขึ้นในวันอังคารตามกำหนดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทางการเรือนจำรายหนึ่งระบุว่ามีการชั่งน้ำหนักและการวัดรอบคอของนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้อยู่เป็นประจำ
เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2022 รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งแขวนคอนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 ราย หลังจากสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา กล่าวหาว่าพวกเขา “กระทำการก่อการร้าย” ซึ่งถือเป็นนักเคลื่อนไหวกลุ่มแรกที่ถูกสั่งประหารชีวิตในเมียนมาเป็นกลุ่มแรกในรอบ 40 ปี ซึ่งเรียกเสียงประณามจากนานาประเทศ
เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการโครงการพม่า แห่ง United States Institute of Peace กล่าวกับวีโอเอว่า คำตัดสินประหารชีวิตสะท้อนมุมมองอันแข็งกร้าวของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งประสบกับความพ่ายแพ้ในสมรภูมิมาตั้งแต่กลุ่มแข็งข้อต่อต้านออกมาต่อสู้กับกองทัพเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน และว่า “สิ่งนี้เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง ขณะที่มีการดำเนินการในระดับนานาชาติไม่เพียงพอ รัฐบาลทหารเกินการควบคุมไปแล้ว ระบอบเผด็จการแผ่ขยายไปทุกที่” พร้อมย้ำว่าประชาคมโลกไม่ลงมือมากพอในการต่อต้าน “ระบอบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ก่อความรุนแรงอย่างเลวร้าย”
ยิ่งไปกว่านั้น ทาวเวอร์ เสริมว่า การเปลี่ยนท่าทีของจีนต่อกองทัพเมียนมา ได้ส่งสัญญาณว่ารัฐบาลทหารเมียนมาสามารถพ้นผิดจากการใช้ความรุนแรงโหดร้ายทารุณกับคนหมู่มาก และประหัตรประหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมทั้งนักการเมืองฝั่งตรงข้ามได้โดยไม่ต้องรับผลอะไร
ผู้อำนวยการโครงการพม่า แห่ง United States Institute of Peace กล่าวว่า “จีนเพิกเฉยต่อการโจมตีทางอากาศต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ในค่ายผู้ลี้ภัย โรงเรียน และโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยการเดินหน้าเชิญเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมแพลตฟอร์มพหุภาคีที่จีนเป็นแกนนำ” อาทิ องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้, เซียงซัน ฟอรั่ม และความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง
ทาวเวอร์ ทิ้งท้ายว่า “ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือเหล่านี้ต่างล้มเหลวที่จะต่อต้าน และมีสัญญาณที่น่ากังวลว่าประชาคมอาเซียนจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันกองทัพเมียนมามากขึ้น แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของการก่ออาชญากรรมสงครามก็ตามที”
- ที่มา: วีโอเอ