องค์กรสิทธิมนุษยชนในอังกฤษ Myanmar Accountability Project (MAP) ยื่นฟ้องรัฐบาลทหารเมียนมาต่อสำนักงานอัยการของรัฐบาลตุรกี ในข้อกล่าวหาว่าทรมานประชาชนภายหลังการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว
การยื่นฟ้องอย่างเป็นทางการครั้งนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม โดยหวังเอาผิดผู้นำกองทัพเมียนมาจากการปราบปรามผู้ประท้วงและประชาชนจำนวนมาก หลังจากที่ผิดหวังต่อความนิ่งเฉยของสหประชาชาติในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ระบบยุติธรรมระหว่างประเทศอนุญาตให้สามารถยื่นฟ้องกรณีการกระทำผิดอย่างรุนแรงในประเทศหนึ่งกับศาลในประเทศอื่นที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ รวมถึงสนธิสัญญาต่อต้านการทำทรมานซึ่งตุรกีร่วมลงนามไว้ด้วย
เมื่อเดือนที่แล้ว สหประชาชาติจัดทำรายงานกล่าวหาว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมสงครามและการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ด้วย
รายงานดังกล่าวระบุว่า ทหารเมียนมาได้ใช้กำลังปราบปรามโดยมุ่งเป้าไปที่ประชาชน โดยมีการยิงศีรษะในระยะเผาขน เผาทั้งเป็น จับกุมโดยไม่มีการดำเนินคดี การทำทรมาน และการใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์
และเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีมติประณามรัฐบาลทหารเมียนมาจากการปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือดหลังการรัฐประหาร แต่รัสเซียและจีนซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติได้ใช้อำนาจสกัดไม่ให้มีมาตรการลงโทษต่อเมียนมา รวมทั้งการยื่นฟ้องผู้นำทหารเมียนมาต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์
โดยก่อนหน้านี้ ประเทศแกมเบียได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลกในอีกข้อหาหนึ่ง คือการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาก่อนที่จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น นอกจากนี้องค์กรสิทธิมนุษยชนอีกแห่งหนึ่งได้ยื่นฟ้องต่อศาลในอาร์เจนตินาเมื่อปี ค.ศ. 2019 เพื่อเอาผิดรัฐบาลทหารเมียนมาจากกรณีที่กระทำต่อชาวมุสลิมโรฮีนจาเช่นกัน