ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์ชี้ ผู้แทนพิเศษอาเซียนไม่สามารถผลักดันการสร้างสันติภาพในเมียนมาได้เลย


CAMBODIA-MYANMAR-DIPLOMACY
CAMBODIA-MYANMAR-DIPLOMACY

นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ในฐานะผู้แทนพิเศษอาเซียน จะอ้างว่า มีความคืบหน้าในการเจรจาสร้างสันติภาพในเมียนมาแล้ว ในความเป็นจริง การเดินทางเยือนกรุงเนปิดอว์ในสัปดาห์นี้ ไม่ได้นำมาซึ่งพัฒนาการด้านบวกอย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดเลย

ปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา เพิ่งเดินทางเยือนเมียนมาเมื่อต้นสัปดาห์ เพื่อเข้าพบและหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหลังการก่อรัฐประหารของกองทัพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว รวมทั้ง เพื่อเจรจาทำข้อตกลงเกี่ยวกับการเปิดทางเพื่อนำส่งและแจกจ่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

อย่างไรก็ตาม รมต.ปรัก สุคน ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งสอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฉันทามติ 5 ข้อที่เมียนมาตกลงไว้กับอาเซียน เพื่อยุติวิกฤตในประเทศนี้

ชาร์ลีส์ ซานติอาโก ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การเดินทางเยือนเมียนมาของผู้แทนพิเศษอาเซียนในครั้งนี้ ถือเป็นการเสียเวลาก็ไม่ผิด แม้ รมต.ต่างประเทศกัมพูชา จะอ้างว่า ตนประสบความสำเร็จเล็กน้อย เพราะได้เข้าพบกับผู้นำรัฐบาลทหาร นักการทูตของอาเซียน เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางคน แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบ ออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกกองทัพจับคุมขังและดำเนินคดีอยู่

รมต.ปรัก สุคน ยังกล่าวด้วยว่า ในการประชุมกับพลเอก มิน อ่อง หลาย ระหว่างการเยือนเมียนมานั้น ตนพบว่า ผู้นำรัฐบาลทหารมีจุดยืนที่พร้อมเปิดรับฟังทุกฝ่าย เพื่อบรรลุเป้าหมายการปรองดองของชาติ พร้อมระบุว่า ฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกลับต้องการจะสู้รบต่อไป มากกว่าที่จะยอมเจรจา และเปิดเผยว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่างๆ ที่ถูกส่งเข้าไปในเมียนมานั้นถูกจัดเก็บไว้ในคลังเพราะยังไม่สามารถนำส่งไปยังผู้ที่เดือนร้อนและรออยู่ได้

ในประเด็นนี้ ซานติอาโก ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า การที่รมต.ต่างประเทศกัมพูชามองว่า การได้เข้าพบ พลเอก มิน อ่อง หล่าย คือ ความคืบหน้าในภารกิจของอาเซียน ทำให้ทุกฝ่ายต้องกลับมาทบทวนนิยามของคำว่า “ความคืบหน้า” กันใหม่ได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม คาร์ล ชูสเตอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาวายแปซิฟิก กล่าวว่า การเยือนเมียนมาของ รมต.ปรัก สุคน สะท้อนภาพจุดยืนของวัฒนธรรมด้านการเมืองของอาเซียน โดยสิ่งที่ทุกฝ่ายหวังได้ก็คือ การที่กัมพูชาและอาเซียน จะยังคงสร้างแรงกดดันทางการทูตให้กับเมียนมาได้ต่อไป

ขณะเดียวกัน แบรดลีย์ เมิร์ก นักวิจัยอาวุโสจาก สถาบันเพื่อความร่วมมือและสันติภาพแห่งกัมพูชา กล่าวว่า อาเซียนนั้นไม่ได้มีทางเลือกมากนัก และการเดินทางเยือนของรมต.ปรัก สุคน ก็แสดงให้เห็นว่า กัมพูชาได้ทำหน้าที่ของประธานหมุนเวียนอาเซียนแล้ว ด้วยการทำให้เมียนมามีท่าทียินยอมที่จะทำตามกระบวนการที่เสนอมา หากแต่ว่า ในทางปฏิบัตินั้น เมียนมาไม่ได้จะลงมือทำการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดเลย

XS
SM
MD
LG