รายงานประจำปีซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการเพื่อการปกป้องผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists - CPJ) เปิดเผยว่า ปี ค.ศ. 2021 เป็นปีที่มีผู้สื่อข่าวทั่วโลกถูกจับกุมคุมขังมากที่สุดเป็นสถิติใหม่
CPJ ระบุว่า จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม มีผู้สื่อข่าวถูกคุมขังแล้ว 293 คนใน 37 ประเทศ เพิ่มจากจำนวน 280 คนเมื่อปีที่แล้ว โดยที่จีนเป็นประเทศที่มีการคุมขังนักข่าวมากที่สุดที่จำนวน 50 คน รองลงมาคือ เมียนมา อียิปต์ เวียดนาม และเบลารุส
ยิปซี กิลเลน ไกเซอร์ ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของ CPJ กล่าวกับวีโอเอว่า ประเทศที่มีนักข่าวถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากนั้น ต่างมีลักษณะบางอย่างคล้ายกัน เช่น มีความถดถอยของระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพในด้านต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่เสรีภาพสื่อเท่านั้น โดยรัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศเหล่านั้นพยายามกล่าวหาผู้สื่อข่าวว่าเป็นพวกโกหกหลอกลวงและกระทำผิดกฎหมาย
ไกเซอร์ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลอำนาจนิยมในหลายประเทศได้พยายามผ่านกฎหมายใหม่ที่สามารถควบคุมและเอาผิดผู้สื่อข่าวได้ เช่น มาตรการ 505A ของเมียนมา ที่ระบุว่าห้ามก่อความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน
SEE ALSO: Human Rights Watch ระบุกองกำลังความมั่นคงเมียนมาจงใจสังหารผู้ต่อต้านการยึดอำนาจในย่างกุ้งอย่างน้อย 65 คนเมื่อต้นปีรายงานของ CPJ เผยแพร่ออกมาก่อนการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยที่ทำเนียบขาวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีผู้แทนจากมากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์ในวันพฤหัสบดีนี้
อย่างไรก็ตาม 7 ประเทศที่ทำเนียบขาวเชิญให้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยนั้นยังคงมีการคุมขังผู้สื่อข่าวอย่างน้อยหนึ่งคน ได้แก่ บราซิล อินเดีย อิรัก อิสราเอล ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่ง CPJ ชี้ว่าเป็นความย้อนแย้งกันในการประชุมครั้งนี้ที่ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าเสรีภาพของสื่อเป็นวาระสำคัญอย่างหนึ่งในการหารือกันด้วย
SEE ALSO: ไต้หวันพร้อมประชุมประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ขณะจีน รัสเซีย และไทยไม่ได้รับเชิญการเปลี่ยนแปลงสำคัญในรายงานปีนี้
ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีนักข่าวฮ่องกงอยู่ในรายชื่อผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขัง สืบเนื่องจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ที่ทำให้มีนักข่าวฮ่องกงถูกจับกุม 8 คน รวมทั้ง จิมมี ไล ผู้ก่อตั้้งหนังสือพิมพ์ Apple Daily และสื่อ Next Digital ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัล Gwen Ifill Press Freedom Award ของ CPJ ประจำปีนี้ด้วย
สำหรับเมียนมา CPJ ระบุว่ามีจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขังเพิ่มขึ้นจาก 1 คนเมื่อปีที่แล้วเป็น 26 คนในปีนี้ หลังเหตุการณ์รัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดย CPJ เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้มาก หากรวมบรรดานักข่าวอิสระที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาควบคุมตัวไปด้วย
และหนึ่งในเหตุการณ์ที่รัฐบาลกระทำต่อผู้สื่อข่าวอย่างร้ายแรงที่สุดในปีนี้ คือเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีของเบลารุสสั่งให้เครื่องบินไอพ่นของกองทัพเบลารุสบินประกบเที่ยวบินของสายการบินไรอันแอร์ ที่บินระหว่างกรุงเอเธนส์และกรุงวิลนีอุส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อบังคับให้เที่ยวบินนั้นลงจอดที่กรุงมินสก์แทน ก่อนที่จะดำเนินการจับกุม รามัน ปราตาเซียวิช ผู้สื่อข่าวฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พร้อมแฟนสาว ที่อยู่บนเครื่องบินโดยสารลำดังกล่าว
โดยในปีนี้ รัฐบาลเบลารุสจับกุมผู้สื่อข่าวเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปีที่แล้ว คือจาก 10 คนเป็น 19 คน
SEE ALSO: อียูโดดเดี่ยวเบลารุส หลังส่งบินรบสกัดบินพาณิชย์เพื่อจับนักข่าวเสรีภาพสื่อในอเมริกาเหนือ?
แม้รายงานของ CPJ ฉบับนี้มิได้ระบุถึงผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขังในสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก แต่ข้อมูลของ U.S. Press Freedom Tracker ของมูลนิธิเสรีภาพสื่อ Freedom of the Press Foundation พบว่า มีนักข่าว 57 คนถูกจับกุมในอเมริกาในปีนี้ ลดลงจากจำนวน 142 คนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจับกุมระหว่างการประท้วงของประชาชน
นอกจากนี้ U.S. Press Freedom Tracker ระบุด้วยว่า มีการทำร้ายผู้สื่อข่าวในสหรัฐฯ ทั้งหมด 141 ครั้งในปีนี้ด้วย