สหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการผ่อนคลายกฎการออกวีซ่าให้กับผู้สื่อข่าวต่างชาติเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ตัวแทนองค์กรสื่อต่างๆ มองว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันนั้นอ่อนข้อให้จีนมากไป ขณะที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งยังคงเดินหน้ากดขี่เสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง
สตีเว่น บัตเลอร์ ผู้ประสานงานของคณะกรรมการปกป้องสื่อ (Committee to Protect Journalists) ที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงระหว่างทั้งสองประเทศควรนั้น “กำลังก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องอยู่” แต่ยังไปไม่ไกลพอที่จะพิจารณาดูความจริงที่ว่า สื่อมวลชนต่างชาติที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจีนนั้น “ได้รับการปฏิบัติต่ออย่างไม่ดีและไม่ถูกต้อง รวมทั้งถูกปฏิเสธการออกวีซ่าให้โดยไม่มีโอกาสโต้แย้ง” อยู่ตลอดเวลา
เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งกำหนดจำนวนผู้สื่อข่าวต่างชาติที่มีสิทธิ์รับวีซ่าเข้ามาทำงานในประเทศอย่างเข้มงวด และทำการยกเลิกวีซ่าของนักข่าวที่รายงานประเด็นที่สร้างความไม่พึงพอใจให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาโดยตลอด
เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ และจีน ต่างยกระดับการดำเนินมาตรการตอบโต้กันและกันที่ส่งผลให้มีการจำกัดการทำงานของผู้สื่อข่าวอย่างมาก
โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศให้องค์กรสื่อจำนวน 5 แห่งที่มีทีมงานอยู่ในสหรัฐฯ เป็นหน่วยงานรัฐบาลจีนอย่างเป็นทางการ ก่อนจะสั่งลดจำนวนชาวจีนที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานอยู่ที่สำนักข่าวทั้งหมดนี้จาก 160 คน เหลือ 100 คน รวมทั้งลดระยะเวลาของวีซ่าของผู้สื่อข่าวต่างชาติเหล่านี้จาก 1 ปี ให้เหลือ 90 วันเท่านั้น
ทางจีนเองได้ตอบโต้ด้วยการขับไล่ผู้สื่อข่าวที่ทำงานกับองค์กรสื่อสัญชาติอเมริกันออกนอกประเทศ ทำให้แต่ละแห่งประสบปัญหาขาดผู้สื่อข่าวไปโดยปริยาย
แต่ข้อตกลงที่ทั้งสองประเทศบรรลุได้ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ของทั้งคู่ โดยผู้สื่อข่าวสัญชาติจีนจะได้รับวีซ่าอายุ 1 ปี แบบเดินทางเข้า-ออกสหรัฐฯ ได้หลายครั้ง (multiple-entry visa) ส่วนจีนสัญญาที่จะปฏิบัติต่อผู้สื่อข่าวขอสหรัฐฯ แบบเดียวกัน ทันทีที่นโยบายใหม่ของรัฐบาลกรุงวอชิงตันมีผลบังคับใช้
แม้ข้อตกลงนี้น่าจะช่วยปรับปรุงพัฒนาการรายงานข่าวจากจีนได้มากขึ้น ผู้ติดตามกรณีเสรีภาพสื่อเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่เพียงพอ เพราะจีนยังคงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มักดำเนินคดีจำคุกผู้ที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพของสื่อรายใหญ่ที่สุดอยู่ดี
เซดริก อัลเวียนี ผู้อำนวยการสำนักงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ยอมให้สื่อชวนเชื่อของจีนเข้ามามีตัวตนในประเทศ เพื่อแลกกับการที่จีนอนุญาตให้สื่ออิสระเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการนี้ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่อยู่ดี เพราะ “สื่อสหรัฐฯ ไม่ควรจะต้องร้องขอโอกาสจากจีน และ(เงื่อนไขนี้)ก็ไม่ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างทั้งสองด้วย”