เกือบสิบเดือนหลังการยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมา สื่อมวลชนในประเทศซึ่งพยายามทำหน้าที่รายงานข่าวให้โลกรู้ความเป็นไปต้องถูกจับกุมและถูกก่อกวนรังควานจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลมากขึ้นตามลำดับทำให้การทำงานเต็มไปด้วยความยากลำบากและเสี่ยงต่อการถูกจับกุม
กลุ่มที่ทำงานด้านสื่อมวลชนในเมียนมา เช่น หน่วยงานผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนหรือ RSF เชื่อว่าการยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมาเมื่อต้นปีนี้ทำให้เสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศต้องถอยหลังกลับไปราว 10 ปี อย่างไรก็ตามมีบางคนที่ชี้ว่าสื่อมวลชนของเมียนมานั้นไม่เคยมีเสรีภาพในการทำงานอย่างแท้จริงเลยแม้กระทั่งภายใต้รัฐบาลพลเรือนของพรรค NLD ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี
ในช่วงที่เมียนมายังถูกปกครองภายใต้กฎเหล็กของผู้นำทหารเมื่อหลายสิบปีที่แล้วนั้นเมียนมาได้ชื่อว่าเป็นประเทศซึ่งมีการควบคุมและเซ็นเซอร์ข่าวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะการเข้าถึงเว็บไซต์ของสื่อมวลชนอิสระถูกปิดกั้น ผู้สื่อข่าวต่างประเทศแทบไม่มีโอกาสได้รับวีซ่าให้เดินทางเข้าไปทำงาน และสื่อมวลชนที่ไม่ใช่ของรัฐก็ต้องนำเนื้อหาข่าวให้ทางการพิจารณาก่อนจะได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ได้ อย่างไรก็ตามข้อจำกัดเหล่านี้ได้รับการผ่อนคลายลงบ้างในปี 2011 เมื่ออดีตพลเอกเต็ง เส็งได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกของประเทศในรอบเกือบ 50 ปีโดยได้มีการยกเลิกข้อกำหนดเรื่องการเซ็นเซอร์เนื้อหาข่าวก่อนที่จะรายงานพร้อมทั้งมีการผ่อนคลายข้อจำกัดในการทำงานบางอย่างของสื่อมวลชนลง
การผ่อนคลายข้อจำกัดในช่วงปี 2011 เป็นต้นมาเป็นผลให้เมียนมามีฐานะดีขึ้นในดัชนีการจัดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนประจำปีของหน่วยงานผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน หรือ Reporters Without Borders (RSF) คือขยับขึ้นจากลำดับที่ 151 ในปี 2013 มาเป็นอันดับที่ 131 ในปี 2017 ดัชนีดังกล่าวให้คะแนนเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศต่างๆโดยอันดับหนึ่งหมายถึงมีเสรีภาพมากที่สุด และในช่วงต้นปี 2021 ก่อนการยึดอำนาจเมียนมาอยู่ที่อันดับ 140 ของดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนที่ว่านี้
อย่างไรก็ตามหลังการยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 สื่อมวลชนในเมียนมาต้องพบปัญหาการถูกจับกุมและการก่อกวนโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลมากขึ้น โดยในช่วงแรกคณะผู้ปกครองทหารของเมียนมาได้ยกเลิกใบอนุญาตของสื่อมวลชนภาคเอกชนห้าราย และหลังจากนั้นก็มีการยกเลิกใบอนุญาตเพิ่มเติมรวมทั้งมีผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุมเพิ่มขึ้นด้วยทำให้สถานการณ์การทำงานของสื่อมวลชนในเมียนมาแย่ลงตามลำดับ ทั้งนี้ตามความเห็นของคุณ Thomas Kean หัวหน้ากองบรรณาธิการของ Frontier Myanmar ซึ่งเป็นสื่อมวลชนภาษาอังกฤษ และหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานของสื่อ Frontier Myanmar ที่ถูกจับกุมคือนาย Danny Fenster ชาวอเมริกันผู้ถูกทางการเมียนมาคุมขังไว้เป็นเวลาเกือบหกเดือนและเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
แต่นอกจากการยกเลิกใบอนุญาตสื่อมวลชนและการจับกุมแล้ว รัฐบาลทหารเมียนมายังใช้วิธีจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตรวมทั้งแก้กฎหมายโทรคมนาคมเพื่อเพิ่มโทษถึงขั้นจำคุกด้วย เรื่องต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นโดยที่ Zaw Min Tun โฆษกของกองทัพเมียนมากล่าวว่าเป็นไปเพื่อสร้างเสถียรภาพความมั่นคงในประเทศ และว่ากองทัพเมียนมา “เคารพเสรีภาพของสื่อมวลชน” โดยได้จับกุมเฉพาะผู้สื่อข่าวที่ยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบเท่านั้น
สภาพแวดล้อมของการทำงานที่ยากลำบากดังกล่าวทำให้สื่อมวลชนอิสระของเมียนมา เช่น สื่อ Frontier Myanmar และสื่อ Democratic Voice of Burma (DVB) ต้องพยามหาวิธีรายงานข่าวโดยอาศัยข้อมูลซึ่งอาจไม่ได้มาจากแหล่งข่าวปฐมภูมิเสมอไปเพราะบางครั้งก็เป็นข้อมูลที่ถูกถ่ายทอดมาสองหรือสามทอดเนื่องจากไม่สามารถส่งผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่ด้วยตัวเองได้ รวมทั้งยังต้องพึ่งพารายงานข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์และจากผู้สื่อข่าวพลเมืองหรือ citizen journalists ด้วย โดยการทำงานที่เต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรคของสื่อมวลชนในเมียนมานี้ยังคงดำเนินต่อไปขณะที่มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 37 คนถูกจับกุมตัวในขณะนี้ ทั้งนี้ตามข้อมูลของหน่วยงานชื่อ Reporting Asean
ที่มา: VOA