ขณะนี้กำลังเกิดเสียงเรียกร้องให้ยุติการปกปิดข้อมูลทางการเงินที่เอื้อให้บรรดามหาเศรษฐีและผู้ทรงอิทธิพลทั่วโลกใช้เป็นช่องทางในการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษี หลังจากมีการเปิดเผยรายงานฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า ‘แพนดอรา เปเปอร์ส’ (Pandora Papers) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือ International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) ได้จัดทำรายงานที่เปิดโปงวิธีที่บรรดาผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ใช้บริษัทเปลือกนอก หรือ shell company และบัญชีในต่างประเทศ ในการซุกซ่อนทรัพย์สินมูลค่ารวมหลายล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐบาลตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
รายงานชี้ว่า นักการเมือง คนที่มีชื่อเสียง ผู้นำทางศาสนา และนักค้ายาเสพติด ต่างใช้บริษัทเปลือกนอกและวิธีการอื่น ๆ ในการซุกซ่อนทรัพย์สิน รวมทั้งการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ
รายงานดังกล่าวซึ่งจัดทำโดยผู้สื่อข่าว 600 คน จากสื่อ 150 แห่งใน 117 ประเทศ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ การสืบสวน การปลดจากตำแหน่ง การปฏิรูประบบภาษี ตลอดจนคำอธิบายต่าง ๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายนี้
‘แพนดอรา เปเปอร์ส’ ระบุชื่อของนักการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน จำนวนมากกว่า 330 คนที่ได้รับประโยชน์จากบัญชีลับในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึง กษัตริย์อับดุลลาห์ที่สองแห่งจอร์แดน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลร์ ประธานาธิบดีเอกัวดอร์ กุยแลร์โม ลาสโซ ตลอดจนเครือข่ายของนายกรัฐมนตรีปากีสถาน อิมราน ข่าน และของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกระบุชื่อหลายคนได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาในรายงานฉบับนี้แล้ว
แกเบรียล ซัคแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กเลย์ ระบุว่า หนทางหนึ่งที่จะจัดการปัญหานี้ คือการสั่งห้ามจดทะเบียน "บริษัทเปลือกนอก" อย่างเด็ดขาด เพราะบริษัทเหล่านั้นไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ตั้งขึ้นเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือเลี่ยงกฎหมายอื่น ๆ เท่านั้น
ทางด้านองค์กร Oxfam International ออกมาแสดงความชื่นชมต่อรายงานฉบับนี้ ขณะที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กล่าวว่า กำลังร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อต่อสู้กับการหลบเลี่ยงภาษีและทำให้เกิดความโปร่งใสทางภาษีมากขึ้น
‘แพนดอรา เปเปอร์ส’ ถือเป็นโครงการที่สานต่อมาจากโครงการ 'ปานามา เปเปอร์ส' (Panama Papers) เมื่อปี ค.ศ. 2016 ซึ่งจัดทำโดย ICIJ เช่นกัน โดยรวบรวมข้อมูลจากการตรวจสอบเอกสารรั่วไหลเกือบ 12 ล้านชิ้นที่ได้มาจากบริษัทผู้ให้บริการด้านกฎหมาย 14 แห่งทั่วโลก ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1996 - 2020
การสืบสวนครั้งนี้ยังได้ขุดคุ้ยไปถึงบัญชีในสถาบันการเงินของเขตปกครองต่าง ๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็น "แหล่งหลบเลี่ยงภาษี" ของบรรดามหาเศรษฐีทั่วโลก เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หมู่เกาะซีเชลล์ส ฮ่องกงและเบลิซ ตลอดจนบัญชีในรูปของทรัสต์ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ รวมทั้ง 81 บริษัทในรัฐเซาธ์ ดาโกตา และอีก 37 บริษัทในรัฐฟลอริดาด้วย
(ที่มา: AP)