Your browser doesn’t support HTML5
ฟลิปปินส์ได้ริเริ่มการลาดตระเวนทางน้ำ ในทะเล ซูลู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่นักวิเคราะห์มองว่าฟิลิปปินส์ได้เร่งเสริมความแข่งแกร่งในการป้องกันประเทศมากขึ้น
สาเหตุสำคัญมาจากภัยคุกคามทางทะเลที่มาจากภายนอก โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบขนยาเสพติด การเดินทางทางทะเลของกบฎชาวมุสลิมหัวรุนแรงที่ก่อความไม่สงบทางตอนใต้ของประเทศ และการแผ่ขยายเข้ามาของเรือสัญชาติจีนในทะเลจีนใต้ พื้นที่พิพาทของทั้งสองประเทศ
ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์ถือว่ามีกลไกการป้องกันประเทศที่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยเฉพาะการป้องกันภัยทางทะเล เว็บไซต์ GlobalFirePower.com ให้คะแนนความแข็งแกร่งของกองกำลังของฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 64 ของโลก เป็นรองเพื่อนบ้านอย่าง จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนาม
วาระสำคัญของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต้ คือการทำสงครามเพื่อปราบปรามยาเสพติด ดูเตอร์เต้เคยกล่าวไว้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ปัญหาการใช้สารเสพติดผิดกฎหมายได้ทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาในประเทศ
เมื่อสัปดาห์ก่อน กองกำลังรักษาการณ์ชายฝั่งของฟิลิปปินส์รายงานว่าได้ควบคุมตัวกัปตันและลูกเรือที่ขน “สารที่เป็นอันตราย” กว่า 53,000 ตันจากประเทศเกาหลีใต้
เอดัวร์โด อาราราล (Eduardo Araral) นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัย National University of Singapore ให้ความเห็นว่า ดูเตอร์เต้อาจจะตระหนักแล้วว่า เขาไม่สามารถเป็นผู้ชนะในสงครามกวาดล้างยาเสพติด หากไม่สามารถหยุดการทะลักเข้ามาของยาเสพติดจากประเทศในแถบละตินอเมริกา และประเทศลุ่มแม่น้ำแม่โขงได้ ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพของกองกำลังรักษาการณ์ชายฝั่ง จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
นอกจากนี้ ดูเตอร์เต้ยังบอกว่า สมาชิกกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ใช้ช่องทางทะเลซูลู เพื่อเดินทางไปพบปะกับกลุ่มกบฎต่อต้านรัฐบาลในตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุความไม่สงบมาเป็นเวลาเกือบ 60 ปี และยังมีความรุนแรงปะทุอยู่เป็นระยะ ๆ
เรือหลายร้อยลำของจีนที่เข้ามาในบริเวณจีนใต้ ใกล้กับเกาะเล็กเกาะน้อยของฟิลิปปินส์ เป็นอีกหนึ่งความกังวลใจของรัฐบาลกรุงมะนิลา เนื่องจากทั้งสองมีข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตในทะเลจีนใต้
นักวิเคราะห์มองว่า ภัยคุกคามเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ฟิลิปปินส์หันไปพัฒนากองทัพ และที่ผ่านมามีสัญญาณที่ดีหลายอย่าง เช่น การที่ดูเตอร์เต้จัดสรรงบกลาโหมประมาณ 5,600 ล้านดอลล่าร์ ในช่วงเวลา 3 ปี และการทำข้อตกลงร่วมการลาดตระเวนในทะเลซูลูกับประเทศ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ภาระกิจป้องกันประเทศยังได้รับการ “เร่งเครื่อง” มากขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ ได้บริจาคยุทโธปกรณ์ และช่วยสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้กองกำลังรักษาการณ์ชายฝั่งของฟิลิปปินส์
ในขณะที่ญี่ปุ่นสัญญาว่าจะมอบเรือลาดตระเวนสองลำ และให้กรุงมะนิลายืมเครื่องบินสอดส่องอีก 5 ลำ เพราะญี่ปุ่นเองก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่ต้องการเห็นจีนเข้ามาใกล้เกินไปในน่านน้ำที่ล้อมรอบฟิลิปปินส์