มีการคาดการณ์ว่า ผู้นำเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์จะพูดคุยเรื่องบทบาทของจีน ในเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ในสัปดาห์นี้
เว็บไซต์ของทำเนียบประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์อ้างคำพูดของ โรดริโก ดูเตอร์เต้ ผู้นำประเทศว่า หนึ่งในวาระการประชุมสำคัญ คือ การสร้างสมดุลทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และในหมู่เกาะสแปรทลีย์ (Spratly Islands) ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนและฟิลิปปินส์มีข้อพิพาทเรื่องอาณาเขต
นักวิเคราะห์มองว่า การขยายอำนาจทางการทหารของจีน สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาค และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้นำฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ จะออกมาแสดงว่าทั้งสองโอนเอนไปทางตะวันตกมากกว่าจีน ซึ่งเป็นท่าทีที่จะเปิดทางให้สหรัฐฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับปัญหาในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น
เจฟฟรีย์ คิงสตัน อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทมเพิล บอกว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงมนิลาและโซล โอนอ่อนให้กรุงปักกิ่งพอสมควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่างเกาหลีใต้และจีน
ในขณะที่ ดูเตอร์เต้ ผู้นำฟิลิปปินส์ ได้สานสัมพันธ์อันดีกับจีนตั้งแต่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และเลือกที่จะมองข้ามปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงินกว่า 24,000 ล้านดอลล่าร์จากปักกิ่ง เพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
แต่การที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งขยายอำนาจทางการทหารเข้ามาในทะเลจีนใต้ รวมทั้งเหตุการณ์เรือจีนและฟิลิปปินส์ชนกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวฟิลิปปินส์เป็นกังวลมากขึ้นกับบทบาทของจีน
ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และจีนนั้น มีเหตุการณ์ที่สร้างความตึงเครียดเช่นเดียวกัน เช่น การทดสอบขีปณาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นพันธมิตรของจีน หรือการที่จีนกล่าวประณามเกาหลีใต้ ที่ติดตั้งระบบป้องกันขีปณาวุธขั้นสูงจากสหรัฐฯ ซึ่งจีนมองว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้กรุงวอชิงตันสอดแนมการเคลื่อนไหวของจีน นอกจากนี้ ยังมีข้อพิพาททางดินแดน และเหตุการณ์ที่รักษาการณ์ชายฝั่งของเกาหลีใต้ยิ่งเรือประมงของจีน
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ และมุ่งแก้ปัญหานิวเคลียร์ในคาบสมุทธเกาหลีร่วมกัน
นักวิเคราะห์มองว่า ลักษณะร่วมของฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ คือการที่ทั้งคู่เป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่กำลังได้รับแรงกดดันจากประเทศจีน แต่ทั้งสองประเทศ ไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลเพียงพอที่จะทำอะไรได้โดยลำพัง จึงน่าจะยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากพันธมิตรประเทศอื่น ๆ
ฟาบริซิโอ บอสซาโต นักวิจัยด้านเอเชียและแปซิฟิค แห่ง Taiwan Strategy Research Association มองว่า สิ่งที่ทั้งสองประเทศทำได้ คือการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพันธมิตร ที่นำโดยสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น เพื่อต้านทานจีน
ซึ่งเห็นได้จากการที่ฟิลิปปินส์เข้าร่วมการซ้อมรบประจำปีกับกองกำลังทหารของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในเดือนที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในช่วงสองปีแรกหลังจากชนะการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้จะไม่ยอมรับการช่วยเหลือจากอเมริกาก็ตาม
โดยกรุงมะนิลาได้ให้เหตุผลว่าเป็นการเข้าร่วมเพื่อให้เอเชียเป็นภูมิภาคที่ “เป็นอิสระและเปิดกว้าง” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่กรุงวอชิงตันใช้ เพื่อให้จีนหยุดการแผ่ขยายอำนาจ
ในขณะที่เกาหลีใต้ ยังคงปฏิบัติตามสนธิสัญญาแลกเปลี่ยนข่าวกรองกับญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศมีข้อพิพาททางการค้ากันอยู่
สตีเวน คิม นักวิจัยแห่งสถาบันสันติภาพเจจู ประเทศเกาหลีใต้ มองว่า รัฐบาลกรุงโซลจะต้องใช้ความระมัดระวังในการสานความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งในบางครั้งจะต้องทำให้เกาหลีใต้ต้องเข้าใกล้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นกรุงโซลมีผลประโยชน์หรือความสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ
เกาหลีใต้ยังต้องพึ่งพาทั้งจีนและสหรัฐฯ ในการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
ในขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ได้ให้การสนับสนุนฟิลิปปินส์มากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เช่นการอนุมัติเงินกู้ 1,700 ล้านดอลล่าร์ และให้ความช่วยเหลือทางการเงินอื่น ๆ เพื่อให้ฟิลิปปินส์นำไปพัฒนาระบบการขนส่งและพลังงานในประเทศ Hyundai Heavy Industries บริษัทเอกชนของเกาหลีใต้ยังช่วยสร้างเรือ เพื่อพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือฟิลิปปินส์อีกด้วย
คาดว่าในการประชุมสุดยอดที่ปูซาน สัปดาห์นี้ ผู้นำฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ จะลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าทั้งหมดนี้ เป็นไปเพื่อคานอิทธิพลของจีน ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศของฟิลิปปินส์