หมู่บ้านในกรุงมะนิลา ของฟิลิปปินส์ ประกาศสงครามกับไข้เลือดออก ด้วยการตั้งค่าหัว ‘ยุง’ ให้ประชาชนจับเป็นและจับตายพาหะของโรคระบาดชนิดนี้
ยุทธศาสตร์ที่ไม่เหมือนใครนี้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านแอดดิชัน ฮิลส์ ในเมืองมันดาลูยอง เนื่องจากความกังวลที่เมืองเคซอนที่อยู่ใกล้เคียง เพิ่งประกาศสถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีอีก 8 พิกัดในฟิลิปปินส์ที่พบการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยไข้เลือดออก

คาร์ลิโต เซอร์นัล จ่ายเงินให้กับชาวบ้านที่นำยุงมาส่งให้ทางการ ตามโครงการ "เปโซแลกยุง" ในกรุงมะนิลา 19 ก.พ. 2025
ที่ผ่านมา แอดดิชัน ฮิลส์ เป็นเขตชุมชนเมืองที่มีประชาชนมากกว่า 100,000 ชีวิตอาศัยอยู่ตามคอนโดสูง และมีมาตรการปราบปรามยุงลาย ทั้งการทำความสะอาดพื้นที่ การขุดลอกคลอง และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง แต่กลับพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 42 รายในปีนี้ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย
คาร์ลิโต เซอร์นัล ผู้นำชุมนุมแอดดิชัน ฮิลส์ จึงผุดมาตรการปราบปราม ในชื่อ "เปโซแลกยุง" ด้วยการตั้งค่าหัวจับเป็นจับตายยุงเหล่านี้ โดยชาวบ้านที่จัดการยุงจะได้รับเงิน 1 เปโซฟิลิปปินส์ หรือราว 58 สตางค์ ในการจัดการยุง 5 ตัวหรือไข่ยุงที่นำมาส่งมอบให้ทางการ

คาร์ลิโต เซอร์นัล ตรวจสอบผลงานจับเป็นไข่ยุงของชาวบ้านที่มอบให้ทางการ ตามโครงการ "เปโซแลกยุง" ในกรุงมะนิลา 19 ก.พ. 2025
พอโครงการดังกล่าวเริ่มขึ้น นักล่ายุงกว่าสิบคนเดินทางมาที่สำนักงานของหมู่บ้าน มิเกล ลาบัค วัย 64 ปี ส่งมอบไข่ยุงลาย 45 ตัว เพื่อแลกกับเงิน 9 เปโซ หรือประมาณ 5 บาท ซึ่งลาบัคบอกกับเอพีด้วยรอยยิ้มว่า “ผมเอาไปซื้อกาแฟได้เลย”
อย่างไรก็ตาม ผู้วิจารณ์โครงการนี้ มองว่ากลยุทธ์ตั้งค่าหัวยุงอาจให้ผลตรงกันข้าม เพราะคนที่แสวงหารายได้พิเศษ อาจใช้ช่องทางนี้แพร่พันธุ์ยุงเพื่อแลกกับเงินของทางการ แต่เซอร์นัลบอกกับเอพีว่า ไม่แน่เกิดขึ้นเพราะโครงการนี้จะยกเลิกทันทีที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลงไป
รัฐมนตรีสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ทีโอโดโร เฮอร์โบซา กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และผู้ต้องสงสัยติดเชื้อต้องพบแพทย์เพื่อรักษาโดยด่วน โดยนอกจากมาตรการตั้งค่าหัวยุงแล้ว ที่เมืองเคซอนใกล้เคียง เคยพิจารณาแผนการปล่อยกบเพื่อให้กินยุงอีกด้วย
ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในฟิลิปปินส์อย่างน้อย 28,234 คน เพิ่มขึ้นถึง 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ส่วนเมืองเคซอนที่เพิ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการระบาดของไข้เลือดออก มีผู้ติดเชื้อ 1,769 คน และเสียชีวิตแล้ว 10 คนในปีนี้
- ที่มา: เอพี