การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชิ้นล่าสุด ระบุว่า หนทางหลบหลีกการถูกยุงกัด อาจจะง่ายขึ้นเพียงแค่เปิดเพลงฟัง ..
การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Acta Tropica เมื่อ 25 มีนาคมที่ผ่านมา เผยผลการทดสอบว่าเพลงดั๊บสเต็ป หนึ่งในแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่มีต้นกำเนิดจากอังกฤษ อาจมีส่วนช่วยให้ลดความเสี่ยงจากยุงกัดได้
คณะวิจัยนานาชาติที่เชี่ยวชาญด้านยุงและโรคที่มียุงเป็นพาหะ บอกว่า เสียง มีส่วนสำคัญในการผสมพันธุ์ ความอยู่รอด และการรักษาจำนวนประชากรของสัตว์หลายชนิด ทีมวิจัยจึงเน้นไปที่ปฏิกิริยาจากเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีผลต่อการออกล่า โจมตี รวมทั้งผสมพันธุ์ของยุงลาย ที่เป็นพาหะของไข้เลือดออกและไวรัสซิกา และพบว่าแนวเพลงนี้อาจจะใช้เป็นยากันยุงได้
นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ บอกว่า สำหรับแมลงแล้ว เพลงที่มีคลื่นความถี่ต่ำจะกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางเพศ แต่เสียงรบกวนจะกระทบกับกระบวนการดังกล่าว
ในการศึกษาพบว่ายุงลายเพศเมียเลือกจะสนุกสนานกับเพลงดั๊บสเต็ปก่อนจะไปกัดเป้าหมาย และโอกาสดูดเลือดก็ลดลง นอกจากนี้ ยุงที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเพลงแนวดั๊บสเต็ป จะผสมพันธุ์น้อยลงด้วย
การทดลองได้ใช้บทเพลงหลายแนว แต่ที่เห็นได้ชัดเจน คือ เพลงแนวดั๊บสเต็ป ของศิลปินชาวอเมริกัน สกริลเล็กซ์ (Skrillex) ซึ่งทีมวิจัยใช้เพลงดังของเขาอย่าง 'Scary Monsters And Nice Sprites' ที่มีระดับคลื่นเสียงสูงและต่ำมากอยู่ในเพลงเดียวกันมาทดลอง
โดยแบ่งเป็นยุงลายที่ไม่ได้ฟังเพลง กับยุงลายที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเพลงนี้อยู่ ปรากฏว่า ยุงลายเพศเมียที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเพลงแนวดั๊บสเต็ปอยู่ มีแนวโน้มที่จะกัดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยุงที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไร้เสียงเพลง
ทีมวิจัยมองว่า การศึกษาครั้งนี้ อาจต่อยอดไปถึงการพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันยุงที่ใช้เสียงเพลงเข้ามาช่วย เพื่อควบคุมและป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะในอนาคตได้
(นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ เรียบเรียงบทความจาก BBC และ Smithsonian)