การศึกษาวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และการขยายตัวของเมือง เป็นสาเหตุหลักบางประการที่อยู่เบื้องหลังการระบาดของไวรัส เช่น ไข้เลือดออก เชื้อไวรัสซิกา และโรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ที่ระบาดอยู่ทั่วโลก
การศึกษานี้เปิดเผยว่า การติดเชื้อที่เกิดจากโรคที่มียุงเป็นพาหะเหล่านี้ และระบาดได้ดีในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นและภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นกึ่งเขตร้อน มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีรายงานที่ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลกเพิ่มขึ้น จากราว 5 แสนรายในปี 2000 เป็น 5.2 ล้านรายในปี 2019 แล้ว
และในความเป็นจริง แนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลกกำลังเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุด ที่แพร่จากยุงไปสู่มนุษย์ โดยในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อประมาณ 100 ถึง 400 ล้านคน
รามัน เวลายุธัน หัวหน้าหน่วยของโครงการการควบคุมโรคเขตร้อนที่ผู้คนมักละเลย ของ WHO และทำงานประสานกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้เลือดออกและไวรัสชนิดมีแมลงเป็นพาหะโรค กล่าวว่า “ปัจจุบัน มีประมาณ 129 ประเทศที่เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก และเป็นโรคเฉพาะถิ่นในกว่า 100 ประเทศ”
เวลายุธัน กล่าวว่า เฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ โรคไข้เลือดออกกำลังเคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ สู่ประเทศต่างๆ เช่น โบลิเวีย เปรู และปารากวัย อยู่ในเวลานี้
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และและความชื้นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้ยุงเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ ขณะที่ มีการวิจัยใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า แม้ในสภาพอากาศที่แห้ง ยุงก็ยังสามารถผสมพันธุ์ได้ โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สภาพอากาศที่แห้งจะส่งผลให้ยุงกระหายน้ำ และเมื่อพวกมันขาดน้ำ ยุงต้องการที่จะดูดเลือดบ่อยขึ้น
เขากล่าวว่า "สิ่งนี้ทำให้เรากังวลอย่างมาก เพราะมันแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญ ที่เอื้อให้เกิดการแพร่กระจายของยุงพาหะไปในทิศทางตอนใต้ เมื่อผู้คนเดินทาง ไวรัสก็จะไปกับพวกเขาตามธรรมชาติ” และแนวโน้มนี้ อาจจะดำเนินต่อไปทั่วโลก
เวลายุธัน เผยว่า "เราได้รับรายงานจากประเทศซูดานว่า นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงถึงกว่า 8,000 ราย และเสียชีวิตถึง 45 ราย"
เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีการเพิ่มขึ้นของไข้เลือดออกในทวีปเอเชียด้วย ได้แก่ ในประเทศกัมพูชา เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์
ส่วนมากไข้เลือดออกเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่บางรายอาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ และมีผื่นตามร่างกาย อาการของผู้ป่วยมักที่จะหายไปในเวลาสองถึงสามสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ไข้เลือดออกอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง
แต่ เวลายุธัน ชี้ว่า “นี่เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงต่อโลก เพราะปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่มีไวรัสไข้เลือดออกที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 4 สายพันธุ์หมุนเวียนกันแพร่ระบาดตลอดทั้งปี” และว่า “โรคไข้เลือดออกนั้นยังไม่มีทางรักษา และวัคซีนก็เพิ่งเข้าสู่ตลาดเมื่อไม่นานมานี้ด้วย”
เขายังเพิ่มเติมว่า มีวัคซีนอยู่ 1 ชนิดที่ได้รับอนุญาตให้มีการแจกจ่ายแล้วในประมาณ 20 ประเทศ โดยมีประสิทธิภาพดีสำหรับผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วหนึ่งครั้ง ขณะที่ มีวัคซีนอีก 2 ชนิดกำลังอยู่ในระหว่างการทดลอง และมีอีก 2 ตัวยาที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา
ในส่วนของไวรัสชิคุนกุนยาที่เป็นสาเหตุของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แพร่กระจายโดยยุงลายและพบได้ในเกือบทุกทวีปนั้น จนถึงปัจจุบันนี้ มีประมาณ 115 ประเทศรายงานว่า พบผู้ป่วยจากเชื้อดังกล่าวแล้ว โดยโรคนี้อาจทำให้เกิดความพิการเรื้อรังและส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ไดอานา โรฮาส อัลวาเรซ หัวหน้ากลุ่มเทคนิคของ WHO ด้านไวรัสซิกาและไวรัสชิคุนกุนยา และเป็นหัวหน้าร่วมของโครงการระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับอาร์โบไวรัส กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ในอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 50,000 รายในปี 2022 เป็น 135,000 รายในปีนี้ ขณะที่ ไวรัสเริ่มแพร่กระจายออกจากพื้นที่ที่ไวรัสนี้ถือเป็นโรคประจำถิ่นในอเมริกาใต้ ไปยังภูมิภาคอื่นๆ แล้ว
ทั้งนี้ อาร์โบไวรัสแพร่กระจายโดยสัตว์ขาปล้อง ซึ่งรวมถึงยุง เห็บ ตะขาบ กิ้งกือ และแมงมุม
โรฮาส อัลวาเรซ กล่าวว่า "ขณะนี้เรากำลังเห็นการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังพื้นที่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนตัวเลขของประเทศที่เริ่มมีการแพร่กระจายของยุงก็เพิ่มสูงขึ้น และประเทศที่มีประชากรยุงตั้งรกรากอยู่แล้วก็เริ่มมีสถานการณ์ที่น่ากังวลด้วย”
เมื่อเทียบกับไข้เลือดออกและชิคุนกุนยา ไวรัสซิกามีความคล้ายกันเพราะแพร่กระจายโดยยุงลาย ซึ่งมักจะกัดตอนกลางวัน อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างจากสองไวรัสข้างต้น นั่นคือ ไวรัสซิกาสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และถูกส่งต่อจากแม่สู่ลูกในระหว่างตั้งครรภ์ได้
ในระหว่างช่วงเดือนตุลาคม 2015 ถึงเดือนมกราคม 2016 ประเทศบราซิลรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกามากกว่า 1.5 ล้านคน และทารกมากกว่า 3,500 คนเกิดมาพร้อมศีรษะที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า ภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด
การระบาดเป็นวงกว้างของโรคที่มียุงเป็นพาหะได้แพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของทวีปอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือแล้ว รวมถึงเกาะหลายแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ซิกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว
โรฮาส อัลวาเรซ ชี้ว่า ซิกายังคงแพร่ระบาดอยู่ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อปรับลดลง จากจำนวนหลายล้านคนในปี 2015 และปี 2016 โดยหลังจากปี 2017 เป็นต้นมา รายงานผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลง “แต่ในแต่ละปี ยังมีผู้ติดเชื้อราว 30,000 ถึง 40,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกา”
เมื่อปีที่แล้ว WHO ได้เปิดตัวโครงการ Global Arbovirus Initiative เพื่อจัดการกับอาร์โบไวรัส ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่หรือเพิ่งกลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้ง ที่อาจจะสามารถระบาดเป็นวงกว้างและแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ โดยแผนงานดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อม การคัดกรองอย่างรวดเร็ว และการรับมือกับการระบาด ตลอดจนการพัฒนายาและวัคซีนใหม่ๆ
แต่ขณะที่ กำลังมีการเดินหน้ายุทธศาสตร์เหล่านี้อยู่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างออกมาเรียกร้องให้ชุมชนทั้งหลายให้เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทั้งที่อยู่ภายในบ้านและรอบ ๆ บ้าน รวมทั้งใช้ยากำจัดยุงเพื่อปกป้องตนเองจากการตกเป็นเหยื่อของไวรัสที่อาจทำให้ถึงตายนี้ได้โดยด่วนแล้ว
- ที่มา: วีโอเอ