องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพราะโรคมาลาเรียอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากวิกฤตการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่กระทบการดำเนินโครงการต้านมาลาเรีย
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกจากมาลาเรียได้ลดลงไปจากก่อนหน้านั้นถึงครึ่งหนึ่ง และมีผู้รอดชีวิตจากโรคนี้ได้ถึง 10.6 ล้านคน แต่ข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมโดย WHO แสดงให้เห็นว่า การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ได้ส่งผลให้แนวโน้มดังกล่าวหยุดชะงักและยังทำให้อัตราการเสียชีวิตจากมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้นี้ กลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง
รายงานมาลาเรียโลก (World Malaria Report) โดย WHO ประเมินว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเรียตั้งแต่ต้นปีนี้มาแล้วราว 241 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 627,000 คน โดยตัวเลขทั้งสองแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวน 14 ล้านคนและ 69,000 คนจากปีก่อน เนื่องจากภาวะหยุดชะงักของการดำเนินโครงการป้องกัน การวินิจฉัยโรค และการรักษาในช่วงที่มีการระบาดหนักของโคโรนาไวรัส
ทั้งนี้ เปโดร อะลอนโซ่ ผู้อำนวยการโครงการมาลาเรียโลก ของ WHO กล่าวว่า สถานการณ์อาจเลวร้ายกว่าที่เกิดขึ้นจริงได้ เพราะเมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะระบาดของมาลาเรียเมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้ว่า อัตราการเสียชีวิตจากมาลาเรียจะพุ่งขึ้นเป็น 2 เท่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง
อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดของ WHO แสดงให้เห็นว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำในความพยายามต่อสู้กับมาลาเรียในหลายพื้นที่ทั่วโลกอยู่
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2000 และ 2020 นั้น ทาง WHO ได้ให้การรับรอง 12 ประเทศว่า อยู่ในภาวะปลอดมาลาเรียแล้ว ก่อนที่ จีน และเอลซัลวาดอร์ จะได้รับการรับรองแบบเดียวกันในปี ค.ศ. 2021
และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากมาลาเรียในพื้นที่ส่วนใหญ่ของ 93 ประเทศและเขตแดนที่ถูกประกาศว่า มีมาลาเรียเป็นโรคเฉพาะถิ่น ได้ชะลอตัวลงไป แต่ สถิติอีกชุดกลับแสดงให้เห็นว่า มีการระบาดของมาลาเรียเพิ่มขึ้นใน 32 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) และอเมริกาใต้
อะลอนโซ่ กล่าวว่า สถานการณ์ในเวลานี้ยังอยู่ในภาวะล่อแหลมในแอฟริกา ซึ่งมีสัดส่วนของผู้เสียชีวิตจากมาเลเรียถึง 96% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลก โดย 80% นั้นเป็นเด็กที่มีอายุไม่ถึง 5 ขวบ
เขายังกล่าวด้วยว่า หากไม่มีการลงมือทำการใดๆ ในเรื่องนี้ การที่จะบรรลุเป้ายุทธศาสตร์ของ WHO ในการลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากมาลาเรียทั่วโลกลง 90% ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมทั้งการกำจัดมาลาเรียให้หมดไปจากพื้นที่อย่างน้อย 35 ประเทศนั้นน่าจะไม่ประสบความสำเร็จดังหวังแล้ว