Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อวันอาทิตย์ สื่อมวลชนทั่วโลกต่างเผยแพร่ข่าวการรั่วไหลของเอกสารทางการเงินที่เชื่อมโยงถึงมหาเศรษฐี นักการเมือง และคนที่มีชื่อเสียงหลายคน
เอกสารดังกล่าวซึ่งเรียกว่า Paradise Papers รวบรวมมาจากข้อมูลด้านการเงินของบริษัทให้บริการด้านกฎหมาย Appleby ในหมู่เกาะเบอร์มิวดา และถูกเปิดเผยโดยสื่อมวลชนในเครือข่าย International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ)
รายชื่อผู้ที่มีชื่อเสียงและถูกนำไปเกี่ยวข้องกับเอกสาร Paradise Papers นั้นมีทั้งหมด 120 คน ซึ่งมีตั้งแต่กองทุนบริหารทรัพย์สินส่วนพระองค์ ของพระราชินีเอลิซาเบ็ธของราชวงศ์อังกฤษ รัฐมนตรีในรัฐบาลประธานาธิบดีสหรัฐฯ และรัฐบาลแคนาดา สถาบันจัดการด้านการเงินของรัสเซีย บริษัท Twitter Facebook และ Apple ไปจนถึงคนที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ อย่างเช่น Bono นักร้องนำวง U2 และ ลูอิส แฮมิลตัน แชมป์โลกนักแข่งรถฟอร์มูล่า 1
Paradise Papers ถูกเปิดเผยครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Suddeutsche Zeitung ในเยอรมนี และกระจายไปยังสื่ออื่นๆ ทั่วโลกในเครือข่าย International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) เช่น New York Times, BBC และ the Guardian
Paradise Papers ประกอบด้วยเอกสารกว่า 13 ล้านชิ้น ระหว่างปี ค.ศ. 1950 – 2016 ส่วนใหญ่รวบรวมมาจากข้อมูลด้านการเงินของบริษัทผู้ให้บริการด้านกฎหมาย Appleby ที่ก่อตั้งมานานกว่า 100 ปี และมีสำนักงานอยู่ในหลายเมือง เช่น หมู่เกาะเบอร์มิวดา หมู่เกาะเคย์แมน มอริเชียส เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง
เอกสารที่ว่านั้นมีทั้งสัญญาทางธุรกิจ รายงานทางการเงิน อีเมล และเอกสารอื่นๆ ขององค์กรและปัจเจกบุคคลจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ หรือบริษัทที่ตั้งในสหรัฐฯ
หนึ่งในรายชื่อคือ กองทุนบริหารทรัพย์สินส่วนพระองค์ ของพระราชินีเอลิซาเบ็ธของราชวงศ์อังกฤษ หรือ Duchy of Lancaster ที่ลงทุนเป็นมูลค่าราว 13 ล้านดอลลาร์ในกองทุนของหมู่เกาะเคย์แมนซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการบริษัทที่มีชื่อว่า BrightHouse ซึ่งทำธุรกิจด้านเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
รวมทั้งชื่อของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ วิลเบอร์ รอสส์ ซึ่งมีหุ้นในในบริษัทขนส่ง Navigator Holdings ซึ่งเป็นผู้จัดส่งก๊าซธรรมชาติเหลวให้กับบริษัท Sibur ของนายคิริล ชามาลอฟ บุตรเขยของปูติน และนายเกนนาดี้ ทิมเชนโก้ บุคคลใกล้ชิดของ ปธน. ปูติน
และชื่อของ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่เคยนั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทที่ชื่อว่า Marib Upstream Service ในเบอร์มิวดาด้วย
นอกจากนี้ยังมีชื่อของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ คือ Twitter และ Facebook ที่ได้รับเงินลงทุนก้อนใหญ่จากสถาบันจัดการด้านการเงินของรัสเซีย เพื่อซื้อหุ้นของบริษัท
เอกสารหลายชิ้นที่ถูกเปิดเผยใน Paradise Papers ล้วนเกี่ยวข้องกับการปกปิดหรือหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งรวมถึงเอกสารการเงินของบริษัท Apple ที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก
NY Times รายงานว่า บริษัท Apple ได้กำไรมากกว่า 128,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น จากการทำธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ถูกเก็บภาษีจากรัฐบาลสหรัฐฯหรือประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทกฎหมาย Appleby อ้างว่าการสืบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Paradise Papers ไม่พบหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ถึงการกระทำผิดทั้งในส่วนของลูกค้าและของทางบริษัทเอง
รายงาน Paradise Papers ถือเป็นเอกสารการเงินที่รั่วไหลครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สอง หลังจากการเปิดเผยรายงาน Panama Papers เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งระบุถึงการเปิดบัญชีในต่างประเทศของบรรดามหาเศรษฐีทั่วโลก เพื่อใช้ในการหลีกเลี่ยงภาษี
แต่ผู้สื่อข่าวของวีโอเอระบุว่า Paradise Papers ถือเป็นการรั่วไหลของเอกสารที่มีขนาดใหญ่กว่า Panama Papers ทั้งในส่วนของจำนวนเอกสารและจำนวนนักข่าวที่เข้าร่วมขุดคุ้ยหาความจริงในเรื่องนี้
(ทรงพจน์ สุภาผล รวบรวมรายงานจาก VOA, BBC, New York Times และ NPR)