งานวิจัยชิ้นใหม่จากอังกฤษ สกอตแลนด์ และแอฟริกาใต้ ชี้ให้เห็นว่า เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โอมิครอน ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วนั้น อาจทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่น
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งเอดินบะระ (University of Edinburgh) ในสกอตแลนด์ เปิดเผยผลการวิจัยในวันพุธที่ระบุว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนมีโอกาสป่วยรุนแรงจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลน้อยลง 60% เทียบกับผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) ระบุว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนมีโอกาสเข้ารับการรักษาฉุกเฉินน้อยลง 15%-20% และผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรงจากโอมิครอนจนต้องรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนลดลงราว 40%-45% เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น
ส่วนที่แอฟริกาใต้ นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของแอฟริกาใต้ (National Institute for Communicable Diseases - NICD) เปิดเผยผลการศึกษาที่พบว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีความเสี่ยงต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลต่ำกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์อื่นราว 70%-80%
NICD ระบุเมื่อวันพุธด้วยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโอมิครอนในแอฟริกาใต้ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ลดลงราว 20% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของแอฟริกาใต้เตือนว่า ประเทศอื่นไม่ควรใช้แอฟริกาใต้เป็นตัวอย่างเนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
วัคซีนโควิดป้องกันทุกสายพันธุ์
เมื่อวันพุธ สื่อสิ่งพิมพ์ Defense One ของสถาบันวิจัยแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ วอลเตอร์ รีด (Walter Reed Army Institute of Research) เปิดเผยว่า กำลังมีการเตรียมประกาศข่าวการพัฒนาวัคซีนที่จะสามารถป้องกันโคโรนาไวรัสได้ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์แล้วด้วย
รายงานระบุว่า วอลเตอร์ รีด ได้เริ่มการทดสอบกับมนุษย์ในขั้นแรกไปแล้วหลังจากที่ได้ผลน่าพอใจจากการทดลองกับสัตว์ โดยวัคซีนที่เรียกว่า “pan-coronavirus” ดังกล่าวใช้เวลาพัฒนามาราวสองปี แต่การทดสอบกับมนุษย์ต้องล่าช้าเพราะปัญหาในการหากลุ่มตัวอย่างซึ่งไม่เคยฉีดวัคซีนโควิดและไม่เคยติดเชื้อโคโรนาไวรัสมาก่อน
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์