Your browser doesn’t support HTML5
นางอองซานซูจี จะเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนม่าร์ ในวันพุธนี้ รวมทั้งพบหารือกับประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ที่ทำเนียบขาว ซึ่งเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนถึงสถานะของเธอในตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเมียนม่าร์ตัวจริง
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า ปธน.โอบาม่า พร้อมที่จะรับฟังทัศนคติของนางซูจี เกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อเมียนม่าร์
ตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่นางซูจีเป็นหัวหน้าพรรค ได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนมีนาคม นางซูจียังไม่เคยออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดที่มีต่อเมียนม่าร์แต่อย่างใด ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นเพราะนางซูจีต้องการให้คณะทหารอนุญาตให้มีการปฏิรูปประเทศเพื่อประชาธิปไตยมากกว่านี้
ที่การประชุมว่าด้วยเรื่องเมียนม่าร์ ซึ่งจัดขึ้นในกรุงวอชิงตันในวันอังคาร รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของ ปธน.โอบาม่า เบน โร้ดส์ กล่าวว่าทำเนียบขาวต้องการรับรองเพื่อให้แน่ใจว่า มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเมียนม่าร์
ส่วนที่งานแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์ค โทนเนอร์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ปกติแล้วการยกเลิกมาตรการลงโทษนั้นจะมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ ซึ่งในกรณีของเมียนม่าร์ สหรัฐฯ ยังไม่พร้อมที่จะยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดในตอนนี้ หมายความว่าจะยังมีการใช้มาตรการลงโทษบางส่วนต่อไป และสหรัฐฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการคงมาตรการลงโทษเหล่านั้นเอาไว้หากยังเห็นว่ามีประโยชน์
โฆษกมาร์ค โทนเนอร์ ยังบอกด้วยว่า สหรัฐฯ ยินดีอย่างยิ่งต่อการเยือนของนางอองซานซูจีในครั้งนี้ และว่าแม้รัฐบาลเมียนม่าร์ได้ส้รางความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงสร้างความกังวลต่อสหรัฐฯ
ด้านคุณ เร็กซ์ เรียฟเฟลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนม่าร์แห่งสถาบัน Brooking กล่าวกับวีโอเอว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง ที่สหรัฐฯ จะต้องปรึกษากับนางอองซานซูจี เกี่ยวกับประเด็นการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ และว่าเมียนม่าร์เป็นประเทศที่มีปัญหาสลับซับซ้อน และเป็นเรื่องยากที่คนอเมริกันจะเข้าใจในปัญหาที่นางซูจีต้องเผชิญในฐานะผู้นำประเทศ
ผู้เชียวชาญผู้นี้ระบุด้วยว่า ปัญหาดังกล่าวรวมถึงการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเมียนม่าร์ด้วย
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐฯ กำหนดมาตรการลงโทษมากมายต่อรัฐบาลทหารเมียนม่าร์ ตั้งแต่การจำกัดการขายหยกและอัญมณีต่างๆ การห้ามซื้อขายอาวุธ และควบคุมยาเสพติด
ปธน.โอบาม่า ได้ยกเลิกมาตรการลงโทษบางส่วนเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากนั้นบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ หลายบริษัท เช่น Coca-Cola และ General Motors ได้เข้าไปลงทุนในเมียนม่าร์กันมากมาย
(ผู้สื่อข่าว Cindy Saine รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงเสนอ)