ในขณะที่รัฐบาลชุดใหม่ของเมียนม่าร์กำลังเตรียมการประชุมสันติภาพครั้งแรกเพื่อยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า กองกำลังชนกลุ่มน้อยสามกลุ่ม คือ กลุ่มอาระกัน กลุ่มดาระอั้ง และกลุ่มโกกั้ง จะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพที่จะเริ่มขึ้นในวันพุธนี้หรือไม่
รัฐบาลเมียนม่าร์กำหนดเป้าหมายของการประชุมสันติภาพซึ่งจะใช้เวลารวม 5 วัน ว่าจะสามารถมีแถลงการณ์ร่วมที่จะนำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงอย่างถาวรระหว่างกองทัพเมียนม่าร์กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ได้
แม้ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้นำชนกลุ่มน้อย และผู้เชี่ยวชาญอิสระ ต่างมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ขณะนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงความท้าทายที่ นางออง ซาน ซูจี กำลังเผชิญ ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผู้กำลังพยายามผลักดันกระบวนการสันติภาพซึ่งครอบคลุมทุกชนเผ่า
หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เม.ย. นางซูจี ได้เร่งรื้อฟื้นกระบวนการสันติภาพที่เริ่มมาจากรัฐบาลชุดก่อน และเพิ่มกลไกการเจรจาทางการทูตพร้อมปรับปรุงแนวทางให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
ต่อมานางซูจีได้ประกาศ “หลักการที่ครอบคลุม” พร้อมจัดให้มีการประชุมสันติภาพครั้งแรกภายใต้ชื่อ “การประชุมปางลองแห่งศตวรรษที่ 21” ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. ถึง 4 ก.ย. ตามชื่อของข้อตกลงปางลองเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว ซึ่งมอบสิทธิในการปกครองตนเองให้กับชนกลุ่มน้อยต่างๆ แต่ถูกยกเลิกหลังการปฏิวัติโดยทหารพม่าเมื่อปี ค.ศ. 1962
คาดกันว่านอกจากผู้นำรัฐบาล ผู้นำทหาร และผู้นำชนกลุ่มน้อย 18 กลุ่ม ที่จะเข้าร่วมการประชุมที่ว่านี้แล้ว ยังมีตัวแทนกลุ่มการเมืองและองค์กรทางสังคมต่างๆ เข้าร่วมมากมาย รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ และเลขาธิการใหญ่สหประชาติ บัน คี มูน ก็จะเดินทางไปร่วมในพิธีเปิดการประชุมสำคัญครั้งนี้ที่กรุงเนปิดอว์ด้วย
อย่างไรก็ตาม นายซอว์ ฮเตย์ โฆษกประจำตัวนางออง ซาน ซูจี กล่าวกับวีโอเอว่า ยังไม่ชัดเจนว่ากองกำลังชนกลุ่มน้อยสามกลุ่ม คือ กลุ่มอาระกัน กลุ่มดาระอั้ง และกลุ่มโกกั้ง จะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพนี้หรือไม่
โดยขณะนี้กำลังรอการตัดสินใจของกองทัพ ซึ่งต้องการให้ทั้งสามกลุ่มเริ่มวางอาวุธก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการสันติภาพดังกล่าว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่ม United Nationalities Federal Council (UNFC) ซึ่งเป็นพันธมิตรชนกลุ่มน้อยสำคัญที่ทั้งสามกลุ่มสังกัดอยู่ ได้จัดการประชุมฉุกเฉินในประเทศไทย และตกลงว่าสมาชิกของ UNFC 9 กลุ่ม จะเข้าร่วมการประชุมในวันพุธนี้ รวมทั้งกองกำลังคะฉิ่น และกองกำลังรัฐฉาน ซึ่งยังคงต่อสู้กับกองทัพเมียนม่าร์อย่างต่อเนื่อง
ตัวแทนของ UNFC กล่าวกับวีโอเอว่า ได้มีความพยายามผลักดันให้อีกสามกลุ่มที่เหลือ คือ กลุ่มอาระกัน กลุ่มดาระอั้ง และกลุ่มโกกั้ง ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อให้การประชุมมีความครอบคลุมมากที่สุด แต่ทั้งนี้การตัดสินใจสุดท้ายยังต้องขึ้นกับรัฐบาลและกองทัพ
ด้านคุณ ทอม เครมเมอร์ นักวิจัยแห่งสถาบัน Transnational Institute ให้ความเห็นว่า การขาดทั้งสามกลุ่มดังกล่าวไปอาจสร้างปัญหาตามมา เพราะถือว่าเป็นการเริ่มกระบวนการสันติภาพที่ไม่สมบูรณ์หากยังมีชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่สู้รบต่อต้านรัฐบาลอยู่ และในที่สุดการจัดทำข้อตกลงสันติภาพอาจไร้ความหมายได้
(ผู้สื่อข่าว Paul Vrieze รายงานจากนครย่างกุ้ง / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงเสนอ)