ผู้วิจัยความเหลื่อมล้ำแรงงานหญิง 2 ศตวรรษ รับ ‘โนเบลเศรษศาสตร์’

ศ.คลอเดีย โกลดิน (ที่มา: รอยเตอร์)

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูล 200 ปี จนเห็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นกับสตรีเพศ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การประกาศรางวัลมีขึ้นในวันจันทร์นี้ ได้มอบให้กับ ศ.คลอเดีย โกลดิน ผู้อุทิศตนเพื่อศึกษาค้นคว้าข้อมูล 200 ปี ในเรื่องบทบาทของผู้หญิงในที่ทำงาน ซึ่งสะท้อนว่าแม้เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น แต่รายได้ของผู้หญิงกลับเติบโตไม่ทันรายได้ที่ผู้ชายได้รับ และช่องว่างดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน แม้ผู้หญิงมีระดับการศึกษาที่สูงกว่าผู้ชายก็ตาม

จาค็อป สเวนสัน ประธานกรรมการรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่าการเข้าใจบทบาทของผู้หญิงในตลาดแรงงานนั้นมีความสำคัญกับสังคม และด้วยงานวิจัยที่เปิดพรมแดนใหม่ชิ้นนี้ทำให้ “พวกเรารู้ถึงปัจจัยที่ซ่อนอยู่ และอุปสรรคใดบ้างที่เราจำเป็นต้องแก้ไขในอนาคต”

รานดี ฮจาลมาร์สัน หนึ่งในกรรมการรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า แม้งานของโกลดินไม่ได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหา แต่งานวิจัยชิ้นนี้ที่ทำให้เห็นและเข้าใจต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำในแต่ละช่วงเวลา ก็จะปูทางไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและฝังรากลึกได้ในอนาคต

การประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ครั้งนี้ยังเป็นก้าวเล็ก ๆ ในการลดช่องว่างระหว่างเพศของผู้รับรางวัลด้วย เพราะศ.โกลดิน เป็นสตรีคนที่สามที่ได้รับรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ จากผู้เคยได้รับรางวัลทั้งสิ้น 93 คน

ฮจาลมาร์สันกล่าวว่า เนื่องจากหลายช่วงในประวัติศาสตร์ ไม่มีการบันทึกข้อมูลแรงงานอย่างเป็นระบบ และหากมีก็ไม่ได้บันทึกข้อมูลของเพศหญิงไว้ ทำให้โกลดินต้องขุดค้นข้อมูลจำนวนมากเพื่อหาแหล่งข้อมูลมาวิเคราะห์และเติมเต็มช่องว่างของข้อมูลดังกล่าว

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ถูกตั้งขึ้นในปี 1968 โดยธนาคารแห่งประเทศสวีเดนเพื่อระลึกถึงอัลเฟรด โนเบล นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ในปี 1895 และมีการเริ่มมอบรางวัลมาตั้งแต่ปี 1901

การประกาศรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ มีขึ้นหลังการประกาศรางวัลในสาขาการแพทย์ ฟิสิกส์ เคมี วรรณกรรม และสาขาสันติภาพ โดยพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ และกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในเดือนธันวาคมนี้ โดยรางวัลที่ได้รับ นอกจากจะประกอบไปด้วยเงินสด 11 ล้านโครนสวีเดน (ราว 1 ล้านดอลลาร์) แล้ว ผู้ชนะจะได้รับเหรียญทองคำ 18 กะรัต และใบประกาศนียบัตรอีกด้วย

  • ที่มา: เอพี