ลิ้งค์เชื่อมต่อ

3 นักฟิสิกส์รับรางวัลโนเบล จากการศึกษาเปิดโลก ‘อิเล็กตรอน’


(จากซ้ายไปขวา) ปิแอร์ อาโกสตินี เฟเรนซ์ เคราส์ และแอนน์ ลีเยร์ สามนักฟิสิกส์ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2023 (ที่มา: AP Photo/Michel Euler, Matthias Schrader and Ola Torkelsson/TT News Agency via AP)
(จากซ้ายไปขวา) ปิแอร์ อาโกสตินี เฟเรนซ์ เคราส์ และแอนน์ ลีเยร์ สามนักฟิสิกส์ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2023 (ที่มา: AP Photo/Michel Euler, Matthias Schrader and Ola Torkelsson/TT News Agency via AP)

รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2023 ถูกมอบให้แก่นักฟิสิกส์ 3 คน ที่ใช้แสงเลเซอร์ศึกษา ‘อิเล็กตรอน’ จนสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วมาก ผู้เชี่ยวชาญชี้ เป็นการเปิดพรมแดนทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหม่ อาจต่อยอดประยุกต์ใช้ได้จริงในอนาคต

สำนักข่าวเอพี รายงานว่า แอนน์ ลีเยร์ ปิแอร์ อะโกสตินี และเฟเรนซ์ เคราส์ คือชื่อของนักฟิสิกส์ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ จากงานการศึกษาอิเล็กตรอน หนึ่งในอนุภาคมูลฐานที่อยู่ในอะตอม อันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างทั้งในร่างกายมนุษย์ สิ่งของ และศาสตร์การศึกษาทั้งทางเคมีและฟิสิกส์

ทั้งสามคนได้แยกกันทำการศึกษาด้วยการยิงเลเซอร์ที่เคลื่อนไหวเร็วกว่าอิเล็กตรอนเพื่อจับความเคลื่อนไหวของมัน ซึ่งมีความรวดเร็วกว่าหน่วยวินาทีมาก ๆ หรือที่เรียกกันด้วยหน่วย ‘อัตโตเซคันด์’ (Attosecond)

ต่อคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอัตโตเซคันด์นั้นมีความเร็วแค่ไหน อีวา โอลสัน หนึ่งในคณะกรรมการโนเบลระบุว่า ให้เอาหน่วย 1 วินาที หารด้วย 1,000 ถึง 6 รอบ

ลีเยร์กล่าวว่า อิเล็กตรอนคือสิ่งสำคัญที่เคลื่อนที่และสร้างพันธะผูกอะตอมเอาไว้ด้วยกัน และทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ ที่เห็นทั้งในทางเทคนิคและในชีวิตประจำวัน เธอยังกล่าวด้วยว่าการศึกษานี้เพียงแต่ทำให้เห็นภาพ “เบลอ ๆ” เท่านั้น เพราะเห็นเพียงแค่ว่า อิเล็กตรอนกำลังเคลื่อนที่อยู่ด้านใดของโมเลกุล

แม้กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การศึกษาที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถมองเห็นภาพแบบเบลอ ๆ ของสิ่งที่เล็กและเคลื่อนไหวได้เร็วมากอย่างอิเล็กตรอน ก็ถือเป็นการเปิดพรมแดนทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหม่

เฟเรนซ์ เคราส์ หนึ่งในผู้รับรางวัลระบุว่า การจะเข้าใจว่าอิเล็กตรอนทำงานอย่างไร ก็จำเป็นต้องเข้าใจว่ามันเคลื่อนไหวอย่างไร

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็เป็นความหวังว่าในอนาคตอาจถูกต่อยอดให้นำไปประยุกต์ใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้า การวินิจฉัยโรค ไปจนถึงการเคมีขั้นพื้นฐาน

ปิแอร์ อาโกสตินี เป็นนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท (Ohio State University) ประเทศสหรัฐฯ ส่วนเฟเรนซ์ เคราส์ เป็นลูกครึ่งฮังการี-ออสเตรีย จากมหาวิทยาลัยมิวนิค (University of Munich) ประเทศเยอรมนี และแอนน์ ลีเยร์ เป็นอาจารย์ชาวฝรั่งเศส สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) ประเทศสวีเดน และลีเยร์ เป็นผู้หญิงคนที่ 5 ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์

ผู้ได้รับรางวัลโนเบล จะได้รับเงินรางวัล 11 ล้านโครนสวีเดน (1 ล้านดอลลาร์) และมีกำหนดขึ้นรับรางวัลในพิธีที่จะจัดขึ้นในกรุงสตอกโฮล์ม ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ อันเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของอัลเฟรด โนเบล นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ในปี 1895 และมีการเริ่มมอบรางวัลมาตั้งแต่ปี 1901

การประกาศรางวัลสาขาฟิสิกส์ เกิดขึ้นสองวันหลังการประกาศรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ โดยผู้ได้รับรางวัล คือผู้ที่ค้นพบวิธีการสร้างวัคซีนประเภท mRNA เพื่อใช้กับโรคโควิด-19

ที่มา: เอพี, Nobel Prize organization

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG