รางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2023 ตกเป็นของสามนักวิจัย ที่สามารถค้นพบและสังเคราะห์อนุภาคเล็กจิ๋ว ที่ต่อมาได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในจอโทรศัพท์ การตรวจหาเนื้องอก และงานนาโนเทคโนโลยี
รอยเตอร์รายงานว่า มวนจิ บาเวนดี หลุยส์ บรูส และอเล็กซี เอกิมอฟ คือชื่อของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2023 จากการประกาศในวันที่ 4 ตุลาคม ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
แถลงการณ์ของคณะกรรมการผู้มอบรางวัล ระบุว่า ทั้งสามประสบความสำเร็จในการผลิตอนุภาคที่เล็กมาก ที่ต่อมามีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานด้านนาโนเทคโนโลยี และ “นักวิจัยหลายคนเชื่อว่า ในอนาคต มัน (ควอนตัม ดอท) จะมีประโยชน์ในด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยืดหยุ่น เซ็นเซอร์ขนาดเล็ก โซลาร์เซลล์ที่บางขึ้น และการสื่อสารควอนตัมแบบเข้ารหัส”
‘ควอนตัม ดอท’ คืออนุภาคขนาดเล็กที่ถูกนำไปใช้ในการผลิตจอ LED ที่ถูกใช้ในหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือโทรทัศน์ และยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยชี้จุดให้กับศัลยแพทย์ในการผ่าตัดเนื้อเยื่อมะเร็งด้วย
บาเวนดี เป็นศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ส่วนบรูส เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ส่วนเอกิมอฟ เกิดในสหภาพโซเวียตก่อนที่จะย้ายมาที่สหรัฐฯ และทำงานให้กับบริษัท Nanocrystals Technology Inc.
ผู้ได้รับรางวัลโนเบล จะได้รับเงินรางวัล 11 ล้านโครนสวีเดน (ราว 1 ล้านดอลลาร์) และมีกำหนดขึ้นรับรางวัลในพิธีที่จะจัดขึ้นในกรุงสตอกโฮล์ม ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ อันเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของอัลเฟรด โนเบล นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ในปี 1895 และมีการเริ่มมอบรางวัลมาตั้งแต่ปี 1901
รอยเตอร์รายงานว่า แม้มีบ่อยครั้งที่รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จะได้รับความสนใจกว่าผู้ได้รับรางวัลสาขาเคมี เนื่องจากมีผู้ได้รับรางวัลชื่อดัง เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แต่ผู้ได้รับรางวัลสาขาเคมีเองก็มีนักวิทยาศาสตร์ชื่อบันลือโลกอยู่หลายคน รวมถึงผู้บุกเบิกการค้นคว้าในเรื่องกัมมันตภาพรังสี อย่างเออร์เนสต์ รัทเธอฟอร์ด และมารี คูรี ที่ได้รับรางวัลโนเบลทั้งสาขาเคมีและสาขาฟิสิกส์
รางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อปี 2022 เป็นของแคโรลีน แบร์โทซซี, มอร์เทน เมลดัล และแบร์รี ชาร์ปเลส ผู้บุกเบิกแนวคิดปฏิกิริยา “คลิก” หรือ click chemistry ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ทำให้โมเลกุลจับตัวกันเพื่อสร้างสารประกอบชนิดใหม่ได้ ที่ทำให้เกิดการออกแบบโมเลกุลตามความต้องการของมนุษย์
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น