บรรดาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างแสดงความยินดีต่อการแต่งตั้งผู้แทนสิทธิมนุษยชนประจำเกาหลีเหนือคนใหม่ของรัฐบาลกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างเว้นมานาน 6 ปี
เมื่อคืนวันจันทร์ ทำเนียบขาวประกาศแต่งตั้ง จูลี เทิร์นเนอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฝ่ายกิจการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้เป็นผู้แทนสหรัฐฯ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ โดยตำแหน่งนี้ต้องได้รับการยืนยันจากวุฒิสภาสหรัฐฯ เสียก่อน
ทำเนียบขาวระบุว่า เทิร์นเนอร์ทำงานให้กับสำนักงานฯ แห่งนี้มา 16 ปี โดยเน้นที่โครงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือเป็นหลัก
ภายใต้กฎหมายที่ผ่านรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อปี 2005 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องแต่งตั้งผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนประจำเกาหลีเหนือ แต่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลงตั้งแต่ปี 2017 เมื่อผู้แทนพิเศษคนก่อนลงจากตำแหน่งในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา และไม่มีการแต่งตั้งผู้มาดำรงตำแหน่งแทนในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ถึงกระนั้น ยังไม่ชัดเจนว่า ทำไมประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจ ไบเดน ใช้เวลาถึงสองปีในการแต่งตั้งผู้แทนคนใหม่ แม้ว่าไบเดนได้ประกาศไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่า จะให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับต้น ๆ
อย่างไรก็ตาม บรรดาองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างแสดงความยินดีต่อการแต่งตั้งให้ จูลี เทิร์นเนอร์ ดำรงตำแหน่งนี้ โดยระบุว่า เป็นผู้มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง
ลี ชิน-วา ผู้แทนเกาหลีใต้ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ กล่าวกับวีโอเอว่า "เทิร์นเนอร์เป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยม ทั้งมีความตระหนักและเข้าใจอย่างเต็มเปี่ยมต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ" และว่า "ดีใจกับข่าวนี้และหวังว่า จะได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสุภาพสตรีผู้มีความสามารถสูงยิ่งผู้นี้"
จนถึงขณะนี้ เกาหลีเหนือยังมิได้มีท่าทีใด ๆ ต่อการประกาศแต่งตั้งผู้แทนคนใหม่ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เกาหลีเหนือถูกจัดเป็นประเทศที่มีสิทธิมนุษยชนต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยประชาชนในเกาหลีเหนือต่างถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานหลายอย่าง รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและสมาคม เสรีภาพทางศาสนาและการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซึ่งยิ่งย่ำแย่ลงในช่วงการระบาดของโควิด-19
- ที่มา: วีโอเอ