สหรัฐฯ ออกมายืนยันว่า ตนมีแผนจะดำเนินการซ้อมรบแผนการรบที่ไม่มีการปฏิบัติในภาคสนาม และจะขยายความร่วมมือด้านการทหารกับเกาหลีใต้ไปครอบคลุมด้านอื่น ๆ ด้วย แต่ปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า กรุงวอชิงตันกำลังพิจารณาแผนร่วมซ้อมรบนิวเคลียร์กับกรุงโซลอยู่ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ
คำประกาศเกี่ยวกับแผนงานทางทหารกับเกาหลีใต้นี้มีออกมา หลังจากประธานาธิบดียูน ซุก-ยอล ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นซึ่งตีพิมพ์รายละเอียดออกมาในวันจันทร์ โดยในบทสัมภาษณ์มีการระบุว่า สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ กำลังหารือกันเรื่องที่จะให้กรุงโซลมีบทบาทมากขึ้นในปฏิบัติการกองกำลังนิวเคลียร์ของกรุงวอชิงตัน
ในคืนวันจันทร์ตามเวลาในสหรัฐฯ ผู้สื่อข่าวถามประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่า สหรัฐฯ กำลังหารือเรื่องดังกล่าวกับเกาหลีใต้อยู่จริงหรือไม่ และได้รับคำตอบว่า “ไม่” โดยไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสหรัฐฯ รายหนึ่งได้ส่งคำแถลงฉบับหนึ่งมายัง วีโอเอ เพื่อให้ความกระจ่างเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวโดยกล่าวว่า สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ กำลัง “ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการป้องปรามที่ขยายวงออกไป ซึ่งรวมถึงการซ้อมแผนบนโต๊ะ (table top exercises) ที่จะศึกษาหนทางตอบโต้ร่วมกันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ อันรวมถึง การที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้วย”
เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีเหนือทำการทดสอบยิงขีปนาวุธถี่เป็นประวัติการณ์ และเมื่อวันอาทิตย์ก็เพิ่งประกาศว่าจะ “เพิ่มการผลิตหัวรบนิวเคลียร์แบบยกกำลัง”
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า ท่าทีและแถลงการณ์ล่าสุดของเกาหลีเหนือนำมาซึ่ง “ความกังวลที่เพิ่มมากขึ้น” แล้ว
อย่างไรก็ตาม ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ออกมาปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกันจากทั้งปธน.ยูน และปธน.ไบเดน โดยมีการชี้ว่า เนื่องจากเกาหลีใต้ไม่ใช่รัฐที่มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ประเทศนี้จึงไม่สามารถเข้าร่วม “การร่วมซ้อมรบนิวเคลียร์” ได้
นักวิเคราะห์หลายคนรู้สึกไม่แน่ใจว่า สหรัฐฯ จะยอมเข้าร่วมแผนงานแบ่งปันนิวเคลียร์กับเกาหลีใต้ดังที่ ปธน.ยูน ให้สัมภาษณ์ไว้ เนื่องจากการทำเช่นนั้นจะขัดแย้งกับเป้าหมายการลดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทั่วโลกของรัฐบาลกรุงวอชิงตัน รวมทั้ง แผนงานปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีด้วย
ทูยอน คิม ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีจาก Center for a New American Security ให้ความเห็นว่า “ความกังวลและความปรารถนาของชาวเกาหลีใต้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้ แต่ สหรัฐฯ ไม่น่าจะสามารถหารือแผนงานด้านนิวเคลียร์ร่วมกับเกาหลีใต้มากถึงระดับที่กรุงโซลต้องการได้”
อย่างไรก็ตาม คิม ชี้ว่า หากเกาหลีใต้ได้เข้าร่วมการซ้อมแผนบนโต๊ะ ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมแผนผ่านการทำความเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ด้วยการอภิปรายกลุ่มต่อสถานการณ์สมมติ กรุงโซลก็น่าจะได้เรียนรู้อะไร ๆ มากมายเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ได้
ด้าน อันกิต พานดา นักวิชาการอาวุโสจาก Nuclear Policy Program แห่ง Carnegie Endowment for International Peace ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งไม่เชื่อเช่นกันว่า สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้เกาหลีใต้เข้าร่วมการวางแผนงานด้านนิวเคลียร์ บอกกับ วีโอเอ ว่า “ในที่สุดแล้ว การตัดสินใจว่า ควรจะรวมอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในแผนรองรับสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉินแบบเฉพาะเจาะจงใด ๆ หรือไม่ น่าจะเป็นเรื่องของประธานาธิบดีสหรัฐฯ”
- ที่มา: วีโอเอ