ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูเอ็น 'ยัน' เกาหลีเหนือมีหน้าที่ต้องกลับคืนสู่โต๊ะเจรจานิวเคลียร์


NORTHKOREA-NUCLEAR/UN
NORTHKOREA-NUCLEAR/UN

เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวในวันพฤหัสบดีว่า เกาหลีเหนือนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะกลับคืนสู่โต๊ะการเจรจาเกี่ยวกับการยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

คำกล่าวของ อันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ที่มีออกมาครั้งนี้เป็นเหมือนการแย้งคำเรียกร้องของจีนก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า สหรัฐฯ ควรจะมีความยืดหยุ่นให้กับเกาหลีเหนือบ้าง

เกาหลีเหนือเผชิญกับมาตรการลงโทษจากยูเอ็นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 เพราะการดำเนินโครงการทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์ ขณะที่ โต๊ะเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ 6 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ จีน สหรัฐฯ รัสเซีย และญี่ปุ่น ไม่ได้เดินหน้าการหารือมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ส่วนการเจรจาสองฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จัดขึ้นในปี ค.ศ. 2018 และ 2019 ก็ล้มเหลวไม่ได้เดินหน้าต่อเช่นกัน

จากนั้นเป็นต้นมา จีนและรัสเซียพยายามผลักดันให้มีการผ่อนคลายมาตรการลงโทษของยูเอ็นต่อเกาหลีเหนือ โดยอ้างจุดประสงค์ด้านมนุษยธรรมและเพื่อดึงให้กรุงเปียงยางยอมกลับมาร่วมโต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายอีกครั้ง

กูเทอเรซ บอกกับที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นว่า “โครงการอาวุธนิวเคลียร์อันผิดกฎหมายที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีดำเนินการอยู่ คือ ภัยอันตรายซึ่งหน้าและชัดเจน ที่จะทำให้ความเสี่ยงและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ได้” และว่า “ภาระหน้าที่นั้นเป็นของ(เกาหลีเหนือ) ในการปฏิบัติตามภาระผูกพันระหว่างประเทศและกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา”

รอยเตอร์ติดต่อขอความเห็นเกี่ยวกับคำพูดของกูเทอเรซจากคณะผู้แทนเกาหลีเหนือประจำยูเอ็นในนครนิวยอร์ก แต่ไม่ได้รับการตอบกลับมาขณะจัดทำรายงานข่าวชิ้นนี้

อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือกล่าวหาเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นว่า เข้าข้างสหรัฐฯ และล้มเหลวที่จะรักษาความเป็นกลางและความเที่ยงธรรมไว้ให้ได้

เมื่อปีที่แล้ว จีนกล่าวว่า กุญแจที่จะช่วยแก้ไขประเด็นโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั้นอยู่ในมือของสหรัฐฯ และเรียกร้องให้กรุงวอชิงตันแสดง “ความจริงใจและความยืดหยุ่นมากกว่านี้” ถ้าต้องการให้ความพยายามดังกล่าวเดินหน้าประสบความสำเร็จ

แต่สหรัฐฯ ก็ย้ำมาตลอดว่า มีเพียงแต่เกาหลีเหนือเท่านั้นที่จะตัดสินใจว่า จะมาร่วมเจรจาอีกหรือไม่ ขณะที่ กรุงเปียงยางก็บอกปัดคำวิงวอนของสหรัฐฯ ให้หันมาใช้หนทางทางการทูตแก้ปัญหาตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขึ้นรับตำแหน่งผู้นำทำเนียบขาวต่อจากอดีตปธน.ทรัมป์ เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2021

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG