นักวิทยาศาสตร์พบนกเดินดงพันธุ์ใหม่ใกล้ชายแดนจีนติดอินเดีย

The Himalayan forest thrush was discovered in northeastern India and adjacent parts of China by a team of scientists from Sweden, China, the US, India and Russia. CREDIT

ทีมนักวิจัยค้นพบนกเดินดงพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะคล้ายกับนกเดินดงหลังไพลแต่มีเสียงร้องแปลกกว่า

Your browser doesn’t support HTML5

New Bird and Frog

ทีมนักวิจัยชาวอเมริกันกับชาวสวีเดนเปิดเผยว่ามีการค้นพบนกพันธุ์ใหม่พันธุ์หนึ่งในบริเวณชายแดนจีนกับอินเดีย

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Michigan State University และมหาวิทยาลัย Uppsala University ในสวีเดน ตั้งชื่อให้นกพันธุ์ใหม่นี้ว่านกเดินดงหิมาลัย หรือ Zoothera Salimalii ตามชื่อของคุณ Sálim Ali นักสัตววิทยาชาวอินเดียที่ศึกษานก

ในตอนแรก ทีมนักวิจัยคิดว่านกวงศ์เดินดงตัวนี้ก็เหมือนกับนกวงศ์เดินดงหลังสีไพล (plain-backed Zoothera mollissima) แต่ค้นพบในตอนหลังว่ามันเป็นนกคนละสายพันธุ์กันเพราะมีเสียงร้องไม่เหมือนกัน

ทีมนักวิจัยชี้ว่านกเดินดงหลังสีไพลโดยทั่วไปมีเสียงร้องที่ไพเราะมากและอาศัยในป่าสนที่กระจายเป็นหย่อมๆ และป่าผสม แต่นกพันธุ์ใหม่ที่มีสีเหมือนกันนี้ อาศัยในป่าสนที่อยู่ในระดับเหนือน้ำทะเลที่สูงกว่า มีเสียงร้องที่ห้าวและแหบกว่า ฟังแล้วไม่ไพเราะ

คุณ Per Alstrom นักวิจัยแห่ง Uppsala University ที่เป็นหัวหน้าทีมนักวิจัยนี้กล่าวว่าทีมงานตื่นเต้นมากที่ค้นพบความแตกต่างของเสียงร้องของนกเดินดงพันธุ์ใหม่กับนกเดินดงหลังไพล ทีมงานเคยได้ยินเสียงร้องของนกเดินดงพันธุ์นี้ครั้งแรกในทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเมื่อปีค.ศ 2009 ซึ่งอยู่ในเขตป่าสนในระดับน้ำทะเลที่สูงกว่า และเมื่อเทียบเสียงร้องและแหล่งที่อยู่กันแล้ว ทีมงานเชื่อว่าเป็นนกเดินดงคนละชนิดกัน

ทีมนักวิจัยยังได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะสายพันธุ์ของนกเดินดงพันธุ์ต่างๆ และสังเกตุเห็นความแตกต่างของขนนกและรูปร่าง

คุณ Pamela Rasmussen นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Michigan State University กล่าวว่าตอนแรกทีมนักวิจัยไม่รู้ว่านกเดินดงมีความแตกต่างด้านชีววิทยา ที่ทำให้มันมีรูปพรรณสัณฐานและลักษณะทางร่างกายและเสียงร้องที่แตกต่างกัน

ทีมงานรู้สึกทึ่งมากที่ค้นพบว่าสายพันธุ์ของนกเดินดงในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในช่วงกว่า 150 ปีที่ผ่านมาจากพื้นที่หลายๆจุดในเทือกเขาหิมาลัย กลับถูกจัดออกเป็นสองกลุ่มเท่านั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะขนของมัน

นักวิจัยอเมริกันคนนี้กล่าวว่าหลังจากศึกษาดูลักษณะทางดีเอ็นเอของนกเดินดงสายพันธุ์ต่างๆ แล้ว ทีมนักวิจัยพบว่านกเดินดงสายพันธุ์ต่างๆ มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมมานานหลายล้านปีแล้ว

นกเดินดงหิมาลัย (Himalayan forest thrush) นกพันธุ์ใหม่ที่พบนี้เป็นเพียงหนึ่งในนกสายพันธุ์ใหม่สี่ชนิดที่ค้นพบในอินเดียตั้งแต่ปีค.ศ. 1949

ในระดับทั่วโลก การค้นพบนกสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นไม่บ่อย โดยค้นพบเพียงแค่ 5 สายพันธุ์ต่อปีเท่านั้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ส่วนมากพบในทวีปอเมริกาใต้